หั่นจีดีพี! ทริสเรตติ้งหั่นเป้าเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงอีก 0.5% เหลือแตะ 3%

121
0
Share:

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือการลงทุน ได้เปิดเผยรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 โดยปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีในปีนี้ 2566 ลง 0.5% จากเป้าหมายเดิมที่ 3.5% มาเติบโตเพียง 3.0% ในขณะที่เศรษฐกิจไทยในปีหน้า 2567 คาดว่าจะเติบโต 3.7%

ในปี 2566 นี้ ทริสเรทติ้งคาดการณ์การส่งออกภาคบริการยังคงเป็นปัจจัยผลักดันหลักของเศรษฐกิจไทยในปี 2566-2567 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าไทยในปีนี้ยังคงไม่เปลี่ยนไปจากเป้าหมายเดิมที่ 28.5 ล้านคน อยู่บนสมมติฐานที่นักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่คนจีนฟื้นตัวต่อเนื่อง และนักท่องเที่ยวจีนกลับเข้ามาเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ท่ามกลางจำนวนเที่ยวบินจะปรับดีขึ้น และนโยบายยกเว้นการตรวจลงตราให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน และชาวคาซัคสถาน ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567

สำหรับในปี 2567 นั้น เศรษฐกิจไทยที่ถูกประเมินว่าจะขยายตัวที่ระดับ 3.7% มีสาเหตุการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าเกิดจากการส่งออกภาคบริการเร่งฟื้นตัวขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยที่ 34 ล้านคน ซึ่งเป็นการฟื้นตัวที่ 85% เมื่อเทียบกับปี 2562 หรือช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทริส เรตติ้ง ประเมินว่าจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวคนจีนและไม่ใช่คนจีน มีข้อจำกัดด้านนโยบายการเงินของโลกที่ยังเข้มงวด การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง และการฟื้นตัวของเที่ยวบินอย่างช้าๆ เป็นปัจจัยที่ทำให้การฟื้นตัวของตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ 100% ในปีหน้า

ด้านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาล จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจผ่านการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก อย่างไรก็ตามความเสี่ยงที่หนี้สาธารณะจะปรับสูงขึ้นในระยะต่อไป โดยหนี้สาธารณะต่อ ตัวเลขจีดีพีปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐในช่วงวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งเพิ่มจาก 41.04% ในปี 2562 มาเป็น 61.1% ในเดือนมิถุนายน 2566 กลายเป็นระดับที่สูงกว่าเพดานหนี้สาธาณณะเดิมที่ 60% ก่อนที่จะมีการแก้ไขกฎหมายให้มีการขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ในช่วงปี 2565 ดังนั้น ในระยะต่อไป ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงที่หนี้สาธารณะจะสูงขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2567

ปัจจัยอื่นๆ ต่อมา ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนจากรายได้เฉลี่ยที่ปรับดีขึ้น และรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับเพิ่มขึ้น มาตรการของรัฐบาลที่ช่วยลดค่าครองชีพและกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่จะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในปี 2567 ตามการเบิกจ่ายอย่างต่อเนื่องในโครงการลงทุนภาครัฐที่อนุมัติดำเนินการแล้ว และการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัว

ทริสเรทติ้ง เปิดเผยต่อไปว่าปัจจัยเสี่ยงสำคัญอื่นๆ ประกอบด้วยอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจหลักที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง อาจส่งผลให้ธนาคารกลางในหลายประเทศยังคงนโยบายการเงินแบบเข้มงวด ซึ่งกระทบต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงความผันผวนในตลาดทุน และเงินทุนไหลออกจากตลาดการเงิน

ขณะที่เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอาจกระทบการส่งออกสินค้าของไทยมากกว่าคาด ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้นสร้างแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อด้วยปัจจัยด้านต้นทุนกระทบห่วงโซ่อุปทานของโลก บรรยากาศการลงทุน และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ สำหรับการคาดกาะรณ์เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติที่ 2.5% มาอยู่ในระดับนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2566 โดยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบเป้าหมายทั้งในปี 2566 และ 2567 และอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว