ห้ามส่งออก! หุ้นโตโยต้าดิ่งแรง 4% หลังสั่งห้ามส่งออกรถไดฮัทสุทุกล็อต เรียกคืนรถกว่า 1.1 ล้านคัน

200
0
Share:

ราคาหุ้นบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ญี่ปุ่น มีราคาร่วงลงต่อเนื่องในการซื้อขายหุ้นที่ตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยปิดตลาดหุ้นเมื่อวานนี้ ราคาหุ้นร่วงลงมากถึง -4% จาก 2 ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน ได้แก่ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ญี่ปุ่น ประกาศยกเลิกการส่งออกรถยนต์ยี่ห้อไดฮัดสุทุกรุ่นที่ผลิตในโรงงานที่ประเทศญี่ปุ่น และที่ประเทศอื่น และโตโยต้าเรียกคืนรถยนต์จำนวนมากถึง 1.12 ล้านคันทั่วโลก

โดยปัญหาแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2023 โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น ประกาศยกเลิกการส่งออกรถยนต์ยี่ห้อไดฮัทสุซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโตโยต้า หลังจากพบว่า รถยนต์ส่วนใหญ่ของไดฮัทสุเผชิญปัญหาการทดสอบความปลอดภัยการชน โดยพบรายละเอียดจำนวน 174 รายการผิดปกติใน 64 รุ่นนับตั้งแต่ตรวจพบปัญหาดังกล่าวตั้งแต่เดือนเมษายน 2023 เป็นต้นมา โตโยต้า มอเตอร์ เปิดเผยว่า จำเป็นต้องมีการปฏิรูปพื้นฐานทั้งหมดสำหรับไดฮัทสุ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ญี่ปุ่น เปิดเผยว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัย และมาตรฐานการผลิตยานยนต์ญี่ปุ่น จะร่วมดำเนินการขั้นตอนการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องที่โรงงานผลิตรถยนต์ไดฮัทสุในเช้าวันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคมนี้

นายโซอิชิโร โอกูไดระ ประธานบริษัทไดฮัทสุ และบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ จะเปิดการแถลงข่าวร่วมชี้แจงในช่วงบ่ายในวันนี้ เพื่อระบุรายละเอียดและแนวทางที่ชัดเจนต่อไป

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2023 ผ่านมา บริษัท ไดฮัทสุ มอเตอร์ จำกัด แถลงชี้แจงการทดสอบการชนด้านข้างของรถยี่โตโยต้ารวม 4 รุ่นด้วยระบบแอปพลิชั่นการทดสอบการชนที่มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ซึ่งการทดสอบการชนดังกล่าวพัฒนาและทำโดยบริษัท ไดฮัทสุ มอเตอร์ จำกัด กับรถยนต์ทั้ง 4 รุ่นที่ส่งออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ

รายงานการกระทำผิดเกี่ยวกับกระบวนการและการปฏิบัติการทดสอบการชนด้านข้างของรถยนต์เกิดขึ้นในเดือนเมษายนนั้น ซึ่งบริษัทไดฮัทสุ มอเตอร์ จำกัด ยอมรับว่าการทดสอบการชนด้านข้างของประตูหน้า หรือประตูคนขับและประตูผู้โดยสารตอนหน้าของตัวถังรถยนต์ในหลายรุ่นนั้น พบการแก้ไข ดัดแปลง อย่างไม่เหมาะสม และการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดทั้งขั้นตอน และวิธีการทดสอบการชนตัวถังรถยนต์

สำหรับรุ่นที่ทำการทดสอบการชนด้านข้างของรถยนต์โตโยต้าโดยบริษัท ไดฮัทสุ มอเตอร์ จำกัด มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 88,123 คัน จากโรงงานผลิตรถยนต์โตโยต้าใน 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย และอินเดีย มีรายละเอียดดังนี้

1.รุ่น ยาริส เอทีฟ (Yaris Ativ) ผลิตในเดือนสิงหาคม 2022 ที่ประเทศไทยและมาเลเซีย มียอดจำหน่ายสะสมรวมกัน 76,289 คันในประเทศไทย เม็กซิโก ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(ยูเออี) คูเวต กาตาร์ บาห์เรน และโอมาน

2.รุ่น เพอร์โรดัว เอเชีย (Perodua Axia) ผลิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ที่ประเทศมาเลเซีย มียอดจำหน่ายสะสมรวมกัน 11,834 คันในประเทศมาเลเซีย

3.รุ่น แอกยา (Agya) เตรียมแผนการผลิตในเดือนมิถุนายน 2023 ที่ประเทศอินโดนีเซีย เตรียมส่งออกขายในประเทศเอกวาดอร์

บริษัท ไดฮัทสุ มอเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่าความสัมพันธ์และการเชื่อมโยงขั้นตอนการทดสอบการชน การรับรองผลการทดสอบการชน และการจัดจำหน่ายระหว่างบริษัท ไดฮัทสุ มอเตอร์ส จำกัด และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น มีดังนี้ ไดฮัทสุรับผิดชอบกระบวนการทั้งหมดเริ่มจากการพัฒนาในภาพรวมไปถึงการออกเอกสารรับรองการทดสอบการชนที่จำเป็นโดยอยู่บนข้อตกลงของบริษัทที่รับช่วงผลิต OEM และข้อตกลงร่วมการพัฒนาระหว่างบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น กับบริษัท ไดฮัทสุ มอเตอร์ จำกัด

ขั้นตอนต่อไป บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น จะดำเนินการขอยื่นรับการอนุมัติรถยนต์ในแต่ละรุ่นจากหน่วยงานด้านยานยนต์ เมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว รถยนต์ในแต่ละรุ่นจะถูกดำเนินการจัดจำหน่ายภายใต้ยี่ห้อโตโยต้า

เมื่อตรวจสอบพบการกระทำผิดดังกล่าว บริษัท ไดฮัทสุ มอเตอร์ จำกัด ได้ดำเนินการรายงาน และปรึกษากับหน่วยงานทางการที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเอกสารการตรวจสอบและรับรอง นอกจากนี้ ยกเลิกการส่งออกรถยนต์ในรุ่นที่ประสบปัญหาดังกล่าวในประเทศปลายทางที่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานทางการในประเทศนั้น

ในอนาคต ก่อนการส่งออกรถยนต์โตโยต้า บริษัท ไดฮัทสุ มอเตอร์ จำกัด จะทำการตรวจเช็คอีกครั้งในขั้นตอนการตรวจสอบ และขั้นตอนเกี่ยวกับเอกสารรับรองกับหน่วยงานทางการ ถ้าผลการตรวจเช็คซ้ำผลการทดสอบการชนด้านข้างของตัวถังรถยนต์ในขั้นตอนดังกล่าวเป็นไปตามกฎระเบียบมาตรฐานความปลอดภัยการชน บริษัท ไดฮัทสุ มอเตอร์ จำกัด จึงจะดำเนินการอนุมัติการส่งออกต่อไป