อดีตประธานสภาตลาดทุนฯ ชี้เก็บภาษีขายหุ้น ส่อกระทบหนักกว่าที่เคยประเมินไว้

318
0
Share:
อดีตประธานสภาตลาดทุนฯ ชี้เก็บ ภาษี ขายหุ้น ส่อกระทบหนักกว่าที่เคยประเมินไว้

จากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ และกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่…) พ.ศ. … (การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ แต่จะยังไม่มีผลบังคับใช้ในทันที เนื่องจากต้องผ่านขั้นตอนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง โดยตามหลักการที่กระทรวงการคลังเสนอมาจะกลับไปเก็บภาษีในอัตรา 0.11% ตามกฎหมายเดิม หลังจากยกเว้นให้มานาน เบื้องต้นในปีแรกจะจัดเก็บในอัตราเพียงครึ่งหนึ่ง หรือ 0.055% เพื่อให้เวลาเตรียมตัว 3 เดือนก่อนเริ่มเก็บจริง

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด และอดีตประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า มีข่าวว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้มีการเก็บภาษีขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอในอัตรา 0.10%

โดยเก็บภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น (Transaction Tax) ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งคำนวณจากรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น โดยจะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.10% (อัตราตามมาตรา 91/6(1)) ของมูลค่าที่ขาย

ทั้งนี้กฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วันหลังประกาศใช้ โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ในไตรมาส 2 ปี 2566 โดยในปีแรกจะเก็บอัตรา 0.055% เมื่อรวมภาษีท้องถื่น แบ่งเป็นภาษีขายหุ้น 0.050% และภาษีท้องถิ่น 0.005%

ผมยังยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะจะทำให้สภาพคล่องในตลาดหลักทรัพย์ฯ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยรวมต่อนักลงทุนทั่วไป ทำให้การซื้อขายหลักทรัพย์มีความคล่องตัวน้อยลง และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคธุรกิจ ทำให้การระดมทุนในตลาดหุ้นทำได้ยากขึ้น และทำให้ต้นทุนทางการเงินของการระดมทุนสูงขึ้น

นักลงทุนกลุ่มที่คาดว่าจะชะลอการซื้อขายมากที่สุดคือกองทุนต่างประเทศ ที่ในปัจจุบันมีต้นทุนในการเทรดหุ้นไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.06% (ค่าธรรมเนียมซื้อ + ขายรวมกัน) การเก็บภาษีขายหุ้นที่ 0.10% จะทำให้ต้นทุนการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 167% นักลงทุนกลุ่มนี้มีสัดส่วนการซื้อขายรายวันสูงถึง 40-50% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด ถ้าส่วนใหญ่ย้ายไปเทรดในตลาดหุ้นอื่น จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างแน่นอน

จากที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทยได้เคยประเมินไว้เมื่อตอนต้นปี มูลค่าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีโอกาสลดลงถึง 40% ถ้ามีการเก็บภาษี FTT และถ้าดูจากภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่แย่ลงมากในปัจจุบัน รวมทั้งดอกเบี้ยโลกที่อยู่ในระดับสูงกว่าเมื่อต้นปีมาก ผลกระทบอาจรุนแรงมากกว่าที่เคยประเมินไว้

นอกจากความเสียหายทางตรง ผลกระทบทางอ้อมก็มีมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการค้นพบราคาของหุ้นแต่ละตัว (Price Discovery) อาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าเดิม กองทุนระยะยาวระดับโลกอาจให้ความสำคัญกับตลาดหุ้นไทยน้อยลงกว่าเดิม ทิศทางการเข้าสู่ตลาดหุ้นของนักลงทุนรุ่นใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจสะดุดลง แผนการดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีให้เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจทำได้ยากขึ้น

บางคนพยายามชี้ว่าภาษี FTT ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายประเทศ เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน ก็มีการจัดเก็บภาษีนี้ แต่ผมมองว่าถ้าเราจะเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เราควรเลือกเทียบกับสิงคโปร์ ที่เป็นประเทศคู่แข่งด้านตลาดทุนโดยตรงของเรา ซึ่งนักลงทุนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ไม่ต้องเสียภาษีอะไรเลย ไม่เสียแม้กระทั่งภาษีเงินปันผล ใน
ขณะที่นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยต้องเสียภาษีเงินปันผลในอัตรา 10% และถ้าเป็นนิติบุคคลต้องเสียภาษีกำไรจากการขายหุ้นในอัตรา 20% การเก็บภาษี FTT จะยิ่งซ้ำเติมให้เราแข่งขันกับสิงคโปร์ได้ลำบากขึ้น

ผมยังเชื่อว่าตลาดทุนไทยมีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้มาก ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม ถ้าได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐ