อธิบดีกรมการแพทย์ยืนยันหน้ากากอนามัยใส่ได้นานไม่ทำให้เลือดเป็นกรด

1760
0
Share:

ในช่วงก่อนหน้านี้ มีผู้ส่งต่อข้อมูลกันเป็นล้านครั้ง กรณีเรื่องการสวมใส่หน้ากากอนามัยและจะทำให้เลือดเป็นกรด
.
โดยเรื่องนี้ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ไม่เป็นความจริง การใส่หน้ากากอนามัยไม่ได้ทำให้เลือดเป็นกรด แต่อาจมีคาร์บอนไดออกไซด์คั่งค้าง เพราะใส่หน้ากากนาน ลมหายใจส่วนหนึ่งจะถูกกักไว้ ซึ่งก็เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ จึงเป็นที่มาว่า หากอยู่คนเดียวก็ไม่ต้องใส่ แต่หากไปในที่ชุมชนต้องใส่ ดังนั้นเลือดเป็นกรดไม่จริง แต่เพลียบ้างอาจมีและทำให้เกิดอาการปวดหัวตามมา จนหลายคนมีความกังวล และแชร์ข้อมูลนี้กันไปจำนวนมาก หลังจากมีสำนักข่าวบางสำนักได้นำเสนอข้อมูลเรื่องนี้ไปก่อนหน้านี้
.
ด้าน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ มีทั้งส่วนจริงและส่วนไม่จริงปนกัน คือการใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานานๆ อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ ! แต่ไม่น่าจะใช่เรื่อง “ภาวะเลือดเป็นกรด” เนื่องจากเลือดเป็นกรด (Acidosis) คือ ภาวะความผิดปกติของเลือดในร่างกาย ที่มีค่าพีเอช (pH) ต่ำกว่าปกติ ที่ควรอยู่ในช่วง 7.35-7.45 ซึ่งถ้าภาวะกรดนี้เกิดจากระบบหายใจ ก็จะเกิดขึ้น เมื่อปอดไม่สามารถขจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกทางการหายใจได้เพียงพอ จึงเกิดการสะสมของก๊าซภายในร่างกายเป็นจำนวนมาก จนทำให้เลือดมีความเป็นกรดมากกว่าปกติ
.
ภาวะเลือดเป็นกรดจากระบบหายใจ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง , การบาดเจ็บบริเวณหน้าอก , ภาวะหรือโรคอ้วนซึ่งอาจทำให้หายใจลำบาก , การใช้ยาที่มีฤทธิ์กดประสาทอย่างไม่เหมาะสมทำให้การหายใจลดลง , การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินปริมาณที่พอดี , ปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท , โครงสร้างของหน้าอกผิดรูปร่าง เช่น หลังค่อม , กล้ามเนื้อหน้าอกที่เกี่ยวข้องกับการหายใจไม่แข็งแรง
.
จะเห็นได้ว่า การใส่หน้ากากอนามัยนั้น โดยรวมแล้ว ไม่ได้เกิดผลเสียจากการขจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกาย แต่อาจเกิดอาการ “ขาดออกซิเจน” มากกว่า
.
ส่วนในกรณีของ “หน้ากาก N95” ถูกออกแบบมาให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ในห้องปฏิบัติการเชื้อโรค โดยจะแนบสนิทกับใบหน้า ไม่มีลมรั่วเข้าด้านข้างเลย และจะต้องออกแรงหายใจเข้ามากขึ้น ทำให้เมื่อใส่เป็นเวลานานๆ อาจทำให้ผู้สวมใส่ขาดออกซิเจน จนถึงขั้นหมดสติได้ จึงไม่ควรใส่ต่อเนื่องนานเกิน 1 ชั่วโมง
.
ส่วน “หน้ากากอนามัยธรรมดา” ทั้งแบบหน้ากากทางการแพทย์และหน้ากากผ้า จะมีช่องให้ลมเข้าออกทางด้านข้างของใบหน้าได้ ผู้สามใส่จึงไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาออกซิเจน เหมือนหน้ากากแบบ n95
.
แต่ถ้าใส่เป็นเวลานานหลายชั่วโมง ก็อาจจะเกิดกลิ่นอับและคราบเหงื่อไคลขึ้นได้ โดยเฉพาะตามรอยขอบหน้ากากหรือสายคล้องหู และอาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือคันขึ้นได้ ยิ่งถ้าเกิดมีการไอจามในขณะสวมใส่ ก็จะมีการสะสมเชื้อเพิ่มขึ้นในหน้ากาก จึงควรเปลี่ยนทิ้งเมื่อใช้ติดต่อกันนานหลายชั่วโมงแล้วเริ่มเก่าแล้ว หรือนำไปซัก ในกรณีของหน้ากากผ้า
.
สรุปว่าคือหน้ากาก n95 ไม่ควรใช้ต่อเนื่องเกิน 1 ชั่วโมงจริง ไม่เช่นนั้นจะเกิดอาการขาดออกซิเจน ส่วนหน้ากากอนามัยแบบธรรมดา สามารถใช้ต่อเนื่องได้หลายชั่วโมง เพียงแต่ต้องรักษาความสะอาดและใช้ให้เหมาะสม