“อนุทิน ชาญวีรกูล”วอนอย่าตัดงบกระทรวงสาธารณสุข หลังคาดว่าวงเงิน 45,000 ล้านบาท

737
0
Share:

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองแผนงานและโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข แก้ปัญหาการระบาดของของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มี นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้พิจารณากำหนดกรอบวงเงินการใช้งบประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท จากพระราชกำหนดกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยกำหนดแนวทางกรอบการใช้เงินเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
.
1.เพิ่มค่าตอบแทน อสม.คนละ 500 บาท จำนวน 1,050,000 คน เป็นเวลา 19 เดือน วงเงิน 10,000 ล้านบาท
.
2.ค่าใช้จ่ายการตรวจรักษา ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด โดย สปสช.(สิทธิบัตรทอง) วงเงิน10,000 ล้านบาท ตามสิทธิที่มีการประกาศไปแล้วให้สิทธิคนไทยทุกคนตรวจรักษาโควิด-19 ฟรี ในจำนวนนี้จะต้องเตรียมไว้รองรับประชาชน ซึ่งถูกเลิกจ้าง เป็นผู้ว่างงาน ซึ่งจะมีการเปลี่ยนสิทธิประกันสังคมมาใช้สิทธิบัตรทอง เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1,000,000 คนด้วย
.
3.ค่าใช้จ่ายที่ต้องสำรองไว้กรณีเกิดเหตุระบาดในช่วง 16 เดือน จัดหา วัคซีน ยา เวชภัณฑ์ และเบี้ยเลี้ยงสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ค่าใช้จ่ายในการกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศไทย หรือค่าที่พัก State quarantine และการพัฒนาระบบไอที บริการประชาชน และผู้ป่วยที่จะใช้บริการของสถานพยาบาล ด้วยความปลอดภัย และลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ และติดเชื้อ วงเงิน 10,000 ล้านบาท
.
4.ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพของโรงพยาบาลทุกระดับ เพื่อรองรับผู้ป่วย และการปรับปรุงระบบงานต่างๆ เพื่อให้การบริการประชาชน มีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น วงเงิน10,000 ล้านบาท
.
5.ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาความสามารถทางการแพทย์ และระบบสาธารณสุข ที่อยู่นอกกระทรวงสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย และหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลกองทัพ โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลของกรุงเทพมหานคร เป็นต้นวงเงิน 5,000 ล้านบาท
.
รองนายกฯ กล่าวว่า การกำหนดกรอบวงเงินทั้ง 5 ข้อดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันและควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยยึดแนวทางที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนด โดยมีเป้าหมายให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และทำให้ประชาชนปลอดภัยได้มากที่สุด
.
โดยงบประมาณ 45,000 ล้านบาท ที่สภาพัฒน์กำหนดให้ใช้ในการพัฒนาระบบสาธารณสุข เป็นเงินที่ไม่มากเลย เมื่อนำมาจัดกรอบวงเงินตามภารกิจแล้ว ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ สะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่า เงินจำนวนนี้ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับภารกิจที่ต้องรับผิดชอบ ดูแล ป้องกันควบคุมโรคทุกพื้นที่และบริการประชาชนทั้งประเทศ จนถึงกันยายน 2564
.
แต่เท่าที่ทราบจากคณะกรรมการพิจารณาโครงการฯ หน่วยบริการต่างๆ ทั้งในกระทรวงสาธารณสุข และนอกกระทรวงสาธารณสุข เสนอโครงการขึ้นมาจำนวนมาก และเกินวงเงิน 45,000 ล้านบาทค่อนข้างมาก ซึ่งทุกโครงการมีความเกี่ยวข้องกับการป้องกัน ควบคุมตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด-19 สร้างความหนักใจให้คณะกรรมการฯ ที่ต้องปรับลดวงเงิน หรือตัดโครงการบางโครงการออกไป หรือตัดเครื่องมือแพทย์บางรายการออกไป เพราะโครงการเหล่านั้นมีเป้าหมายเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยและสร้างสุขภาพคนไทย
.
ดังนั้น หากมีความจำเป็นจะไปปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อขอแนวทางในการเพิ่มสัดส่วนงบประมาณ ในส่วนของการแพทย์และการสาธารณสุข ซึ่งในการอภิปรายของ ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ก็เห็นด้วยว่าควรจะเพิ่มงบประมาณในส่วนของการแพทย์ และการสาธารณสุข เพิ่มขึ้น ถ้าให้เพิ่มไม่ได้ ก็ขอเพียงว่าอย่าตัด เพราะทุกบาทที่ใช้จ่ายในภารกิจการแพทย์ และการสาธารณสุข มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาชีวิตของประชาชน