อังกฤษเตรียมทดลอง”วัคซีนโควิดแบบแปะผิวหนัง”ที่ผลิตจาก T-cell คาดจะสร้างภูมิคุ้มกันได้นานเป็นสิบๆ ปี

378
0
Share:
อังกฤษเตรียมทดลอง" วัคซีน โควิดแบบแปะผิวหนัง"ที่ผลิตจาก T-cell คาดจะสร้างภูมิคุ้มกันได้นานเป็นสิบๆ ปี

บริษัท Emergex (อีเมอร์เจ็กซ์) ของอังกฤษเตรียมเดินหน้าทดลองทางคลินิกวัคซีนป้องกันโควิด-19 รุ่นที่ 2 ที่ผลิตจาก T-cells หรือเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่หลักในการเป็นภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย คอยกำจัดเซลล์แปลกปลอม ซึ่งจะเป็นชนิดแปะที่ผิวหนัง และคาดว่าอาจสร้างภูมิคุ้มกันได้นานกว่าวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ซึ่งวัคซีนจาก T-cells จะกำจัดเซลล์ที่ติดเชื้อออกจากร่างกายทันทีหลังจากติดเชื้อ จึงสามารถป้องกันการแบ่งตัวของไวรัสและป้องกันโรค ในขณะที่ภูมิคุ้มกันที่กระตุ้นโดยวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อสู่เซลล์ แต่ T-cells จะค้นหาและทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อ ด้านวัคซีนโควิด-19 ตัวอื่น เช่น Pfizer-BioNTech และ AstraZeneca จะสามารถกระตุ้นการตอบสนองของ T-cells ได้แต่น้อยกว่า

บริษัท Emergex (อีเมอร์เจ็กซ์) ได้รับอนุมัติจากองค์กรดูแลกำกับยาของสวิตเซอร์แลนด์ให้ทดลองทางคลินิกกับมนุษย์ที่เมืองโลซานน์ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 3 ม.ค.ปี 65 โดยจะมีผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวน 26 คน ที่จะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในปริมาณมาก-น้อยต่างกัน คาดว่าผลการทดลองจะออกมาในเดือน มิ.ย.

ทางด้าน โรบิน โคเฮน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการค้า Emergex เผยว่า เป็นครั้งแรกที่หน่วยงานกำกับดูแลอนุมัติให้ทำการทดลองทางคลินิกวัคซีนที่กระตุ้นการตอบสนองของ T-cell เพียงอย่างเดียวโดยไม่พึ่งการตอบสนองของแอนติบอดี ซึ่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในปัจจุบันได้กระตุ้นภูมิคุ้มกัน แต่จะค่อยๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป จึงต้องฉีดเข็มกระตุ้นเพื่อรักษาระดับภูมิคุ้มกันที่ปกป้องร่างกายจากไวรัส แต่วัคซีนของอีเมอร์เจ็กซ์ ทำงานคนละแบบ ด้วยการทำลายเซลล์ที่ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว วัคซีนนี้อาจให้การปกป้องที่นานกว่าถึงสิบๆ ปี และสู้กับไวรัสสายพันธุ์กลายพันธุ์ได้ดีมากกว่า

สำหรับวัคซีนชนิดแปะผิวหนังของอีเมอร์เจ็กซ์ มีขนาดเท่านิ้วหัวแม่มือและเต็มไปด้วยเข็มขนาดจิ๋วจะปล่อยวัคซีนออกมาภายในไม่กี่วินาทีหลังแปะลงผิวหนัง ทั้งยังสามารถเก็บได้ 3 เดือนในอุณหภูมิห้อง โดยคาดว่าจะนำมาใช้งานได้เร็วที่สุดในปี 2025 ซึ่งก่อนหน้านี้ผลการวิจัยพบว่าบางรายเคยสัมผัสเชื้อแต่ไม่ติดเชื้อ คือเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายแล้ว แต่ถูกภูมิคุ้มกันจาก T-cell ทำลายไปตั้งแต่ช่วงแรกๆ

ทั้งนี้การค้นพบวัคซีนตัวนี้อาจเป็นการเปิดทางไปสู่การผลิตวัคซีนรุ่นใหม่ที่กระตุ้นการตอบสนองของ T-cell โดยเฉพาะ ซึ่งอาจผลิตภูมิคุ้มกันได้ยาวนานกว่าทางด้านศาสตราจารย์ แดนนี อัลต์แมนน์ จากราชวิทยาลัยลอนดอนเผยว่า วัคซีนจาก T-cell เดี่ยวๆ ไม่น่าจะปกป้องร่างกายจากไวรัสได้อย่างสมบูรณ์ โดยได้แนะนำว่าควรนำมาใช้เสริมกับวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน