เงินบาทเปิดตลาดอ่อนทะลุ 38.15 บาทต่อดอลลาร์ หลังตลาดกังวลเงินเฟ้อสหรัฐ

247
0
Share:
เงินบาท เปิดตลาดอ่อนทะลุ 38.15 บาทต่อดอลลาร์ หลังตลาดกังวลเงินเฟ้อสหรัฐ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยภาวะตลาดเงินว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 38.15 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 38.10 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 38.00-38.30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

นักลงทุนมีความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กดดันบรรยากาศในตลาดการเงิน หลังจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกปี 2566 เหลือ 2.7% และปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ ลงสู่ระดับ 1.0% แนวโน้มการชะลอตัวลงหนักของเศรษฐกิจส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่า ผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มแย่ลงตามเช่นกัน นอกจากนี้ ตลาดยังคงถูกกดดันจากแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้ หากตลาดยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ซึ่งยังเป็นปัจจัยที่หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเลือกที่จะถือเงินเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ มีโอกาสที่เงินบาทอาจอ่อนค่าทดสอบแนวต้าน 38.30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะในกรณีที่ เงินเฟ้อพื้นฐานสหรัฐ ที่จะรายงานในวันพรุ่งนี้ ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด สูงกว่า 6.5% และสูงกว่า 0.5% ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ โดยหากราคาทองคำไม่ได้ปรับตัวลงแรง สามารถทรงตัวเหนือแนวรับ 1,670 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ และรีบาวด์ขึ้นได้ มองว่าเงินบาทก็อาจจะไม่ได้อ่อนค่าไปมาก

อย่างไรก็ดี หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 38.30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ก็มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าต่อไปทดสอบ 38.50-38.75 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่มองว่าผู้เล่นในตลาดมีสถานะ short หรือรอทำกำไรในกรณีที่ราคาปรับตัวลดลงของเงินบาทอยู่นั้น อาจเริ่มทยอยขายทำกำไร หรือลดสถานะลงบ้าง

นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังคงเป็นฝั่งขายสุทธิสินทรัพย์ไทย ยังคงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทผันผวนในฝั่งอ่อนค่า ซึ่งแรงขายหุ้นไทยอาจเริ่มชะลอลงได้บ้าง แต่แรงขายบอนด์ไทยอาจยังมีต่อได้ จนกว่าที่บอนด์ยีลด์ระยะยาว อาทิ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ จะเริ่มย่อตัวลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ หากตลาดเริ่มคลายกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หรือตลาดกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น