เตือนแรงช็อคตลาดเงินทั่วโลกกว่า 14 ล้านล้านบาท กำลังจะเกิดขึ้นในที่เหลือปีนี้

577
0
Share:
ตลาดเงิน
ธนาคารกลางสำคัญ และทรงอิทธิพลทั่วโลกที่อยู่ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศของโลก หรือกลุ่มจี 7 ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ธนาคารแคนาดา ธนาคารกลางกลุ่มยูโร ธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางฝรั่งเศส ธนาคารกลางเยอรมนี เป็นต้น ล้วนตัดสินใจเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้น โดยในบางครั้งจะขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวมากกว่าปกติที่เคยผ่านมา ประกอบกับธนาคารกลางเร่งยุติมาตรการกระตุ้นตลาดการเงินด้วยการพิมพ์เงินเข้าพยุงเศรษฐกิจโลก หรือที่เรียกว่ามาตรการคิวอี ซึ่งปฏิบัติการทั้งหมดจะเกิดขึ้นในช่วง 8 เดือนที่เหลือของปีนี้
.
ดังนั้น เงินทุนมูลค่า 410,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 14.5 ล้านล้านบาทที่เหลืออยู่ในตลาดการเงินทั่วโลกจากทั้งหมด 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 280 ล้านล้านบาทที่เริ่มต้นมาตรการดังกล่าว จะทยอยหายออกจากตลาดการเงินโลก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะช็อคตลาดการเงินโลกอีกครั้ง
.
สาเหตุในการเร่งลดมาตรการคิวอี เกิดจากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงในรอบกว่าครึ่งศตวรรษในหลายๆประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกามีเงินเฟ้อสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี แคนาดามีเงินเฟ้อผู้ผลิตสูงสุดในรอบ 66 ปี ทำให้ธนาคารกลางต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ในขณะเดียวกันลดปริมาณเงินในตลาดการเงินออกเร็วที่สุด
.
สำหรับธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่า จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นถึง 0.5% ในการประชุมวันที่ 3-4 พฤษภาคมนี้ ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ จะเร่งยุติมาตรการคิวอีถึงเดือนละ 95,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่าเดือนละ 3.33 ล้านล้านบาท
.
ด้านธนาคารกลุ่มยูโร เปิดเผยว่า จะเริ่มยุติมาตรการคิวอีในไตรมาสที่ 3 ปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางดังกล่าวจะเริ่มต้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในเดือนกรกฎาคมนี้ ขณะที่ ธนาคารกลางประเทศอังกฤษ ได้ตัดสินใจยกเลิกการต่ออายุมาตรการคิวอีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ผ่านมา และจะปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นในเดือนพฤษภาคมนี้ต่อเนื่อง