เศรษฐกิจจุ๊ดจู๋! ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์สับจีดีพีไทยปีนี้หลุดต่ำ 2% รอ 2 ปีฟื้น

532
0
Share:

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center หรือ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ประกาศปรับลดการเติบโตเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพีไทยปีนี้ลงมาอยู่ที่ 1.9% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 2 % สาเหตุจากผลกระทบอย่างมากจากการระบาดระลอกใหม่ที่คาดว่าจะกินเวลานานประมาณ 4 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่เมษายนถึงกรกฎาคมนี้ ทำให้กระทบการบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจในลักษณะ face to face ลดลงมาก ทำให้เกิดความเสียหายราว 310,000 ล้านบาท

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศปีนี้มีแนวโน้มลดต่ำกว่าคาดมาอยู่ที่ 400,000 คน จากเดิมที่คาดไว้ราว 1.5 ล้านคน แม้ทางการจะมีแผนเปิดประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี หรือตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ยังระมัดระวังในการเปิดให้ประชาชนเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลจากความกังวลต่อ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมแผลเป็นต่อธุรกิจและแรงงานโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี สาเหตุที่เศรษฐกิจจะไม่ชะลอลงมากจากคาดการณ์ครั้งก่อน เป็นผลจากแนวโน้มการส่งออกที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ฉีดวัคซีนได้เร็วกว่า

.

ด้านอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นมาในไตรมาสแรกนี้ยังไม่ได้รวมเอาผลของการระบาดระลอก 3 ซึ่งมีความรุนแรงมากเข้าไปด้วย ตัวเลขอัตราการว่างงานของไทยจึงมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นได้อีก ในขณะเดียวกัน จำนวนชั่วโมงทำงานก็ปรับตัวลดลงในไตรมาสแรกที่ -1.8% จากจำนวนคนทำงานต่ำระดับ (ทำงานต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนเสมือนว่างงานที่ยังไม่ตกงานแต่ไม่มีการทำงานและไม่มีรายได้ที่มีอยู่ถึง 7.8 แสนคน เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวจาก 3.6 แสนคนในไตรมาสก่อนหน้า

ขณะที่จำนวนคนทำงานเต็มเวลาและล่วงเวลาลดต่ำลง นอกจากนี้ รายได้จากการทำงาน ซึ่งประกอบไปด้วยเงินเดือน โบนัส และค่าแรงโอที ก็ยังหดตัวอย่างมีนัยสำคัญถึง -8.8% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยเป็นการหดตัวในทุกสาขาธุรกิจสำคัญนอกภาคเกษตร

.

สำหรับแผลเป็นในตลาดแรงงานที่ลึกขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังรายได้และความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือน ทำให้การใช้จ่ายฟื้นตัวได้ยากและกระบวนการซ่อมแซมงบดุลของภาคครัวเรือนจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้เป็นไปได้อย่างล่าช้า โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกของปีตาม GDP ที่ยังคงหดตัว ก่อนที่จะทรงตัวในระดับสูงตลอดปี 2564 ตามมาตรการพักชำระหนี้ที่ยังมีอยู่ ขณะที่รายได้ไม่ได้ฟื้นตัวเร็วนัก ทำให้ปัญหาหนี้สูง (debt overhang) จะเป็นอีกอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในระยะข้างหน้า

รวมทั้งมาตรการความช่วยเหลือของภาครัฐทั้งจากวงเงิน 2.4 แสนล้านบาทภายใต้ พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และวงเงินจาก พรก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาทที่ออกมาใหม่ ศูนย์ EIC คาดว่าจะมีเม็ดเงินบางส่วนราว 100,000 ล้านบาท เข้าช่วยพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปีนี้

.

สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะยังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ โดยจะต้องรอถึงช่วงต้นปี 2566 จึงจะกลับไปเท่ากับระดับช่วงก่อนเกิด COVID-19 รวมทั้งยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงด้านต่ำสำคัญ ได้แก่ ระยะเวลาในการควบคุมการระบาดที่อาจนานขึ้น และความล่าช้าด้านการฉีดวัคซีน ซึ่งอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอ่อนแอและล่าช้าออกไปอีก

ทั้งนี้การเร่งฉีดวัคซีนเพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้นควบคู่กับการผลักดันมาตรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับ New Normal จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดขนาดของความเสียหายทางเศรษฐกิจแบบถาวรของเศรษฐกิจไทย