เอกชนส่งสินค้าทางเรือเพิ่มเป้าส่งออกไทยปี 65 ขึ้นอีก 3%

321
0
Share:

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.ได้ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยปี 2565 เป็นร้อยละ 5-8 จากเดิมคาดว่าทั้งปีจะเติบโต 5% ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ท้าทายของ สรท. โดยอีก 8 เดือนข้างหน้า (พฤษภาคม-ธันวาคม 65) จะต้องมีการส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 23,446 ล้านดอลลาร์ หากจะให้การส่งออกเติบโตได้ 5% ซึ่งจะทำให้การส่งออกมีมูลค่ารวมทั้งปี 284,797 ล้านดอลลาร์ แต่หากต้องการให้ขยายตัวได้ 8% ต้องมีการส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 24,802 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งปีเพิ่มเป็น 292,934 ล้านดอลลาร์

ผู้ส่งออกยังเห็นโอกาสในวิกฤต ทั้งวิกฤตอาหารและวิกฤตพลังงาน ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันผลักดันการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง โดยจะต้องจัดเตรียมความพร้อมเรื่องข้อมูลให้ได้มากที่สุด เพื่อนำมาวิเคราะห์และใช้วางแผนดำเนินงาน

ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกในปี 2565 ได้แก่

1. ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูงจากสถานการณ์ระหว่างยูเครนและรัสเซียยืดเยื้อส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้า และต้นทุนการขนส่งปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกราคาพลังงานในตลาดโลก

2. อัตราเงินเฟ้อโลกที่เพิ่มขึ้นเป็น 9.2% ต่อปี ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น และกำลังซื้อผู้บริโภคทั่วโลกหดตัวลง

3. สถานการณ์ระวางเรือยังคงตึงตัวในหลายเส้นทางและค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลยังทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากเรือแม่ยังไม่สามารถเข้าเทียบท่าในไทยได้มากขึ้น ขณะที่แม้ค่าระวางเริ่มมีการปรับลดลงในหลายเส้นทาง แต่พบว่าค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน ยังคงมีการปรับขึ้นและผันผวนตามราคาน้ำมันในตลาดโลก

4. ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, ธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ถั่วเหลือง แป้งสาลี อาหารสัตว์ ปุ๋ย เป็นต้น ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มออกมาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร

และ 5. การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรพิจารณาให้เหมาะสมตามความสามารถ

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ ขอให้ ธปท. รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ไม่ให้แข็งค่าเกินกว่า 33–34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้เพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับต้นทุนในส่วนอื่นที่ผันผวนสูง และขอให้ กนง. คงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% เพื่อประคองให้การฟื้นตัวภาคธุรกิจยังคงดำเนินการได้

นอกจากนี้ ขอให้รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศให้อยู่ระดับที่เหมาะสม ผ่านเครื่องมือด้านการลดภาษีสรรพาสามิตและเงินกองทุนน้ำมัน หรือกลไกในการควบคุมต้นทุนการนำเข้าไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากจนเกินไป และ 3.การควบคุมราคาสินค้าในประเทศจำเป็นต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับต้นทุนผู้ประกอบการ เพื่อมิให้เป็นภาระต้นทุนของผู้ประกอบการมากเกินไป ขอให้พิจารณาลดต้นทุนสินค้าขาเข้า ลดเงื่อนไขและขั้นตอนในกลุ่มสินค้าที่ขาดแคลนและจำเป็น