แก้เอสเอ็มอี! พาณิชย์ ดึงเอกชน จัดทำโรดแมปแก้ปัญหาเอสเอ็มอี ดันจีดีพีSMEs โต 5 แสนล้าน/ปี

124
0
Share:

นายนภินทรศรีสรรพางค์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทย ครั้งแรก ว่าได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ เชิญผู้แทนหน่วยงานภายในกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนเข้าร่วมประชุม เพื่อหารือและกำหนดแนวทางความร่วมมือด้านการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงเตรียมความพร้อมการจัดงานมหกรรมรวมพลัง SMEs ไทยช่วงปลายเดือนมีนาคม 2567 และวางแผนกำหนดมาตรการส่งเสริมและแก้ปัญหา SMEs

โดยในส่วนของการจัดกิจกรรมมหกรรมรวมพลัง SMEs ไทยซึ่งเป็นภารกิจเร่งด่วน (Quick Win) ของกระทรวงพาณิชย์ในการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ SMEs ผลลัพธ์สำคัญจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ และช่วยขยายตลาดให้ผู้ประกอบการ SMEs เบื้องต้น กำหนดจัดกิจกรรมช่วงปลายเดือนมีนาคม 2567 ณ กรุงเทพมหานคร กิจกรรมหลักภายในงาน อาทิ การเปิดพื้นที่ให้ SMEs เข้าร่วมแสดงและจำหน่ายสินค้า จำนวนไม่น้อยกว่า 100 คูหา

รวมทั้งการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างคู่ค้าทางธุรกิจ  , การสัมมนาหัวข้อที่ SMEs จำเป็นต้องรู้เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น กฎระเบียบด้านการค้าระหว่างประเทศ สิทธิประโยชน์ FTA และแนวทางการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น, การให้สินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ภายใต้กิจกรรมจับคู่กู้เงินและ การให้คำปรึกษาด้านการทำธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงพาณิชย์

ขณะที่ วาง Road Map “มาตรการส่งเสริมและแก้ปัญหา SMEs” เพื่อเพิ่มสัดส่วน GDP SMEs ไทย ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่า SMEs ให้ได้ 3 แสนล้านบาท ภายใน 1 ปีแรก (ปี 2566-2567) และนำไปสู่มูลค่า 5 แสนล้านบาท/ปี ภายในปี 2570 หรือเติบโตขึ้น 40% โดยเดินตาม 8 แนวทางได้แก่

1. บูรณาการระหว่าง 3 หน่วยงาน คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อจัดหลักสูตรอบรมให้ความรู้เพิ่มเติมทักษะให้ SMEs

2. สร้างอาชีพด้วยแฟรนไชส์ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ผู้ว่างงาน ผู้สนใจประกอบธุรกิจ และครอบครัวผู้ประกันตนมาตรา 33 สามารถเลือกซื้อแฟรนไชส์ตามความถนัดโดยแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงเพราะเท่ากับซื้อความสำเร็จจากเจ้าของธุรกิจซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้แฟรนไชส์ซีและแฟรนไชส์ซอร์ได้สร้างธุรกิจสร้างตัวไปพร้อมกัน

3. เพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศด้วยการนำสินค้าชุมชน หรือ SMEs หรือ OTOP มาเสนอขายแก่ผู้บริโภคในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยกว่า 2.5 ล้านคนโดยจัดแพ็คเกจสินค้าที่เหมาะกับการยังชีพให้สะดวกต่อการเลือกซื้อสินค้าและมีระบบการจัดส่งสินค้าที่รวดเร็ว

4. เพิ่มมูลค่าสินค้า GI ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและนอกประเทศ

5. การบริหารจัดการสินค้าเกษตรเพื่อรักษาสมดุลราคาทั้งพืชไร่ พืชสวน และปศุสัตว์ เพื่อรองรับผลผลิตประมาณ 75,000 ตัน/ปี

6. พัฒนาร้านค้าโชห่วยด้วยระบบการค้าสมัยใหม่ นำเทคโนโลยี POS มาช่วยบริหารจัดการร้านค้าพร้อมทั้งปรับภาพลักษณ์ร้านค้าให้สวยงามเพิ่มช่องทางการขายผ่านออนไลน์ให้เข้าใกล้ลูกค้ามากขึ้นและส่งเสริมการแข่งขันให้เท่าเทียมกัน

7. ส่งเสริมการเติบโต SMEs ในท้องถิ่น ผ่านระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดและเป็นคู่ค้ากับภาครัฐได้

และ8. สนับสนุนและสร้างมาตรฐานธุรกิจ E-Commerce โดยส่งเสริมให้จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พร้อมรับเครื่องหมาย DBD Registered การันตีความมีตัวตน และเครื่องหมาย DBD Verified รับรองความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจ

ทั้งนี้ เพื่อให้การผลักดันครั้งนี้สำเร็จเป็นรูปธรรม กระทรวงฯ ได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดร่วมมือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ในแต่ละพื้นที่คัดเลือกทำเลการค้าที่ดีในท้องถิ่นของตนเองไม่น้อยกว่า 10-20 แห่งสร้างพื้นที่ขายสินค้าให้แก่แฟรนไชส์พร้อมช่วยเจรจาขอค่าเช่าในอัตราพิเศษ

นอกจากนี้ ได้ประสานงานกับกระทรวงพลังงานจัดหาทำเลการค้าที่ดีสำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ในสถานีบริการนํ้ามันเชื้อเพลิง (ปั๊มน้ำมัน) และเจรจาค่าเช่าราคาถูก หรือ ฟรีใน 1 ปีแรก รวมถึงประสานสมาคมตลาดสดไทยที่มีสมาชิกกว่า 300 แห่งให้คัดเลือกทำเลการค้าหรือแจ้งความต้องการว่าในพื้นที่นั้นต้องการแฟรนไชส์ประเภทใดไปลงทุน การที่กระทรวงพาณิชย์ช่วยคัดเลือกทำเลการค้าที่ดีเหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับสถาบันการเงินว่าจะได้ลูกค้าที่มีทำเลการค้าที่ดี เป็นลูกค้าที่มีคุณภาพ และมีความสามารถในการชำระหนี้สูง ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการของสถาบันการเงิน