แดงยกแผง! ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ปิดลงเกือบ 20 จุด น้ำมันดิบโลกปิดพุ่งเหนือ 92 ดอลลาร์

197
0
Share:
แดงยกแผง! ดัชนี หุ้น ดาวโจนส์ ปิดลงเกือบ 20 จุด น้ำมันดิบโลกปิดพุ่งเหนือ 92 ดอลลาร์

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2023 (ตามเวลาในสหรัฐ) ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ปิดที่ระดับ 34,645 จุด -17 จุด หรือ -0.05% ดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ระดับ 4,461 จุด -25 จุด หรือ -0.57% และดัชนีหุ้นนาสแดค ปิดที่ระดับ 13,773 จุด -144 จุด หรือ -1.04%

สาเหตุจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีถูกเทขายต่อเนื่อง เนื่องจากผลประกอบการบริษัทออราเคิล ยักษ์ใหญ่วงการคอมพิวเตอร์ มีผลการดำเนินงานที่ย่ำแย่เกินคาดหมาย ส่งผลราคาหุ้นดำดิ่งมากที่สุดในรอยมากกว่า 20 ปี นอกจากนี้ นักลงทุนรอการประกาศเงินเฟ้อสหรัฐอเมริกาเดือนสิงหาคมที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นมาแตะที่ระดับ 3.6% เทียบช่วงเดียวกันในปีผ่านมา และเป็นการเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมที่ระดับ 3.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปี 65

นอกจากนี้ ตัวชี้วัดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่เรียกว่า เฟดวอช์ท พบว่า โอกาสตรึงดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาในการประชุมวันที่ 19-20 กันยายนนี้ อยู่ที่ระดับ 93% และโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นในการประชุมเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 41% จากเดิมที่โอกาสตรึงดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ที่ 50%

ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ 88.84 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +1.55 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ +1.8% ทำสถิติราคาปิดสูงสุดในรอบ 10 เดือน หรือตั้งแต่พฤศจิกายนปี 2022

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 มีราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ สหรัฐอเมริกา พุ่งขึ้นสูงสุดที่ 130.50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทำสถิติราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ที่สูงสุดนับตั้งแต่กันยายน 2008 หรือในรอบ 13 ปี 5 เดือน

ด้านราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ ปิดที่ 92.06 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +1.42 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ +1.6% ทำสถิติราคาน้ำมันดิบปิดเหนือกว่า 90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในรอบ 9 เดือน 3 สัปดาห์ หรือตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2022 เป็นต้นมา

ในปี 2022 ผ่านไปราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ มีราคาสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2008 หรือในรอบ 13 ปี 7 เดือน โดยเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2565 มีขึ้นมาสูงสุดระหว่างวันที่ระดับ 139.13 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

สาเหตุจากกลุ่มโอเปกพลัสเปิดเผยรายงานสถานการณ์น้ำมันดิบประจำเดือน พบว่า ประเมินความต้องการบริโภคน้ำมันดิบทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอีกวันละ 2.24 ล้านบาร์เรลในปีนี้ ในขณะที่ประเมินปีหน้า 2024 ทั้งความต้องการบริโภคจะเพิ่มขึ้น 2.25 ล้านบาร์เรล และปริมานการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากประเมินสัญญาณฟื้นตัวของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่

สอดรับกับสำนักงานข้อมูลพลังงาน สหรัฐอเมริกา หรืออีไอเอ เปิดเผยว่า ในปีนี้ 2023,ปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตได้ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 101.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และในปีหน้า 2024 จะเพิ่มขึ้นเป็น 102.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ท่ามกลางความต้องการบริโภคน้ำมันดิบทั่วโลกในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 101 ล้านบาร์เรลต่อวัน และในปีหน้า 2024 จะเพิ่มขึ้นเป็น 102.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในอดีตผ่านมา ทั่วโลกทำสถิติเป็นประวัติการณ์ทั้งปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ และการบริโภคน้ำมันดิบ โดยในปี 2018 มีปริมาณการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลกที่วันละ 100.5 ล้านบาร์เรล ส่วนในปี 2019 มีความต้องการการบริโภคน้ำมันดิบอยู่ที่ วันละ 100.8 ล้านบาร์เรล

อีไอเอ ยังคาดการณ์ต่อไปว่า สต็อกน้ำมันดิบทั่วโลกจะลดลงถึงเกือบ 500,000 บาร์เรลต่อวันในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ส่งผลให้ประเมินราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ จะมีราคาเฉลี่ยในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ สูงถึง 93 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

สำหรับสหรัฐอเมริกา อีไอเอ คาดการณ์ว่าในปีนี้ 2023 ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นวันละ 12.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และในปีหน้า 2024 เพิ่มมากขึ้นเป็นวันละ 13.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในอดีตผ่านมา เมื่อปี 2019 สหรัฐอเมริกาผลิตน้ำมันดิบมากถึงวันละ 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สอดคล้องกับการบริโภคน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 20.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้และปีหน้าตามลำดับ ในอดีตผ่านมา เมื่อปี 2005 สหรัฐอเมริกาบริโภคน้ำมันดิบมากถึงวันละ 20.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนักปัจจัยซาอุดีอาระเบียประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบต่อเนื่อง โดยลดผลิตลงวันละ 1 ล้านบาร์เรลอีก 3 เดือน มีผลตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2023 สอดคลัองกับรัฐบาลประเทศรัสเซียประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบต่อเนื่อง โดยลดผลิตลงวันละ 300,000 บาร์เรลอีก 3 เดือน มีผลตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2023 เช่นเดียวกัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกพลัสจะลดลงถึงวันละ 1.3 ล้านบาร์เรลนับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2023

การประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก และรัสเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบนอกกลุ่มโอเปกที่มากที่สุดในโลก รวมกันวันละ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อไปอีก 3 เดือน กลายเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายของตลาดพลังงานโลก เนื่องจากเดิมคาดการณ์ว่าทั้ง 2 ประเทศจะลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบถึงเดือนตุลาคมเท่านั้น

ราคาทองคำส่งมอบทันที หรือ Gold Spot ปิดที่ 1,909.50 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ -12.39 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ -0.6% ขณะที่ราคาทองคำล่วงหน้า หรือ Gold Future นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ระดับ 1,932.60 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ -12.80 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ -0.8% ทำสถิติราคาทองคำปิดต่ำสุดในรอบ 1 สัปดาห์ผ่านมา

เมื่อกลางเดือนเมษายนผ่านไป ราคาทองคำล่วงหน้ามีราคาปิดสูงสุดในรอบ 1 ปีที่ 2,048.71 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ จากวิกฤตธนาคารเอสวีบี และเอสบี ปิดกิจการและถูกควบคุมโดยทางการสหรัฐอเมริกา

ย้อนกลับไปในปี 2022 ผ่านไปเมื่อเดือนมีนาคม พบว่าราคาทองคำล่วงหน้ามีราคาสูงสุดระหว่างวันขึ้นไปถึง 2,072.49 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์

สาเหตุจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพลิกทะยานแข็งค่าขึ้น เช่นเดียวกันกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริการะยะสั้นอายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึันมาใกล้เคียงระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ โดยนักลงทุนรอติดตามการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ

ขณะนี้ ตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่เรียกว่า เฟดวอช์ท พบว่า โอกาสตรึงดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาในการประชุมวันที่ 19-20 กันยายนนี้ อยู่ที่ระดับ 93% ขณะที่โอกาสขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นในการประชุมเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 41% จากเดิมมีโอกาสที่ 50% ที่จะตรึงดอกเบี้ยต่อไป