แบงก์ชาติเปิดให้บริษัทต่างๆยื่นเข้าโครงการกองทุน BSF ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถึง 31 ธันวาคม 2564

832
0
Share:

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะ เลขานุการ คณะกรรมการกำกับกองทุน เปิดเผยว่า ในวันนี้ บริษัทต่างๆ ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) สามารถยื่นคำขอได้ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปถึง 31 ธันวาคม 2564 หรือจนกว่าวงเงินจะครบกำหนด 4 แสนล้านบาท ภายหลังจากคณะกรรมการกำกับกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) ได้ออกประกาศเรื่อง นโยบาย แนวทางการดำเนินงาน กรอบการลงทุน และกรอบการบริหารความเสี่ยงของกองทุน BSF ตาม พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ว่าด้วยการจัดตั้งกองทุน BSF
สำหรับตราสารหนี้ภาคเอกชนที่กองทุนจะลงทุนได้ ต้องเป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนและประกอบธุรกิจในประเทศไทย แต่ไม่รวมรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน หรือบริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจของสถาบันการเงิน นอกจากนั้นต้องเป็นบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุนได้ (investment grade) อย่างต่ำที่ระดับ BBB- หรือเทียบเท่า และอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารต้องเป็น investment grade เท่านั้น และจะต้องทำ Issue Rating ของ Fitch หรือ Tris ก็ได้ รวมถึงมีแผนจัดหาแหล่งเงินทุนในอนาคตชัดเจน
.
ส่วนรูปแบบการให้ความช่วยเหลือของกองทุน BSF จะสนับสนุนสภาพคล่องส่วนที่เหลือหลังจากระดมทุนจากแหล่งอื่นมาแล้วไม่น้อยกว่า 50% ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด โดยอาจจะมาจากการระดมทุนในตลาด 20% และการขอสินเชื่อสถาบันการเงินอีก 20% รวมถึงจากผู้ถือหุ้นเดิมทั้งนี้ กองทุน BSF เป็นเพียงการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น อายุไม่เกิน 270 วัน ด้วยต้นทุนการกู้ยืมจากกองทุน BSF ที่สูงกว่าอัตราการกู้ยืมในตลาด โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับวงเงินไม่เกิน 30% จะอยู่ที่ +1% และกรณีวงเงินเกิน 30% ของวงเงินครบกำหนดจะคิดอัตราดอกเบี้ย +2% เพื่อให้ธุรกิจพยายามหาแหล่งเงินทุนอื่นก่อนที่จะมาขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ
.
เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว บริษัทต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของกองทุน BSF เช่น เงินที่ระดมทุนได้ต้องนำไป rollover หุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดเท่านั้น ห้ามชำระคืนหนี้ให้แก่กรรมการ เจ้าของและผู้ถือหุ้น หรือห้ามจ่ายเงินปันผล เพื่อให้เป็นไปตามกรอบการลงทุนที่มีธรรมาภิบาลที่ดี
.
ทั้งนี้ บริษัทที่ต้องการขอความช่วยเหลือจากกองทุน BSF สามารถยื่นขอต่อเลขานุการคณะกรรมการลงทุน โดยระบุเหตุผลความจำเป็นในการขอรับความช่วยเหลือ พร้อมเอกสารตามที่กำหนดก่อนที่ตราสารจะครบกำหนดไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 45 วัน อย่างไรก็ดี ในช่วง 2 เดือนแรก อนุโลมให้บริษัทสามารถยื่นขอความช่วยเหลือก่อนครบกำหนดไถ่ถอนได้ภายใน 15 วัน ขณะเดียวกัน บริษัทสามารถไถ่ถอนได้หากพบว่าไม่อยากให้วงเงินช่วยเหลือจากกองทุน BSF โดยจะต้องแจ้งล่วงหน้าภายใน 5 วัน
.
นางสาววชิรา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงสร้างการบริหารกองทุน BSF จะประกอบด้วยคณะกรรมการ 2 ระดับ คือ คณะกรรมการกำกับกองทุน (Steering Committee: SC) มีหน้าที่กำหนดนโยบาย กรอบการลงทุน และบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการลงทุน (Investment Committee: IC) มีหน้าที่ คัดเลือกตราสารหนี้ภายใต้กรอบการลงทุนที่ SC กำหนด คัดเลือกที่ปรึกษา และรายงานผลการดำเนินงานให้ SC ทุก 3 เดือน
.
ส่วนกรณีการชดเชยความเสียหายจากกระทรวงการคลังวงเงิน 4 หมื่นล้านบาทนั้น ธปท.ได้มีการประมาณการตั้งสมมติฐาน รวมถึงทำการทดสอบ Stress Test ว่ามีความเสี่ยงมากน้อยขนาดไหน ถ้าหากมีความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาด้านเครดิตจนลามไปสู่ระบบสถาบันการเงิน พบว่า วงเงิน 4 หมื่นล้านบาทน่าจะเพียงพอ และหากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงมาตรการต่างๆ สามารถปรับเปลี่ยนได้