แบงก์ชาติเผยค้าปลีกไทยมองคนไทยกลับมาใช้จ่ายบริโภคอีก 1- 2 ปี ท่องเที่ยว-ก่อสร้างเหลือเงินทุนทำธุรกิจไม่เกิน 3 เดือน

524
0
Share:

ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกประจำเดือนกรกฎาคม 2574 ลดลงอย่างมากทั้งในสถานการณ์ปัจจุบัน และความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกใน 3 เดือนจากนี้ไป สาเหตุจากภาวะการแพร่ระบาดของโรคระบาดโควิด-19 รอยที่ 3 ซึ่งมีทั้งความรุนแรง และยืดเยื้อ นอกจากนี้ มาตรการควบคุมโรคระบาดที่เข้มงวดมากกว่าเดิม ซึ่งมีการขยายระยะเวลาต่อเนื่อง สุดท้ายมาจากปัจจัยการกระจายวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ที่ไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด

ผลสำรวจดังกล่าว ยังพบว่า ผู้ประกอบการภาคธุรกิจค้าปลีก 90% คาดการณ์กำลังซื้อของผู้บริโภคคนไทยปรับลดลงมากอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กลับไม่เห็นพฤติกรรมการซื้อเพื่อกักตุนสินค้าท่ามกลางคำสั่งศบค.ให้มีการปิดห้างสรรพสินค้า ที่สำคัญที่สุด พบว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกมองว่าผู้บริโภคจะฟื้นตัวกลับมาจับจ่ายใช้สอยเหมือนก่อนช่วงก่อนเกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เกิดขึ้นเป็นปี 2566 นั่นหมายถึง กำลังซื้อของผู้บริโภคคนไทยจะกลับมาช้ากว่าที่เคยประเมินไว้อีกราว 1 – 2 ปี

นอกจากนี้ ผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2564 ยังพบว่า ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวมปรับลดลงจากเดือนก่อนในทุกภาคธุรกิจ ตามการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศในวงกว้าง และผลของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่กลับมาเข้มงวดอีกครั้ง โดยเฉพาะภาคก่อสร้างจากคำสั่งปิดแคมป์คนงาน สำหรับการจ้างงานค่อนข้างทรงตัว ยกเว้นภาคท่องเที่ยวและภาคก่อสร้างที่ปรับลดลง โดยธุรกิจในภาพรวมมีการใช้นโยบายสลับกันมาทำงาน และลดชั่วโมงทำงานเพิ่มขึ้น ขณะที่บางส่วนเริ่มกลับมาใช้นโยบายลดเงินเดือนเพิ่มเติม

ธุรกิจส่วนใหญ่มีสภาพคล่องสำรองใกล้เคียงกับเดือนก่อน แต่เริ่มเห็นบางธุรกิจมีสภาพคล่องลดลง โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว และภาคก่อสร้างที่มีสัดส่วนของธุรกิจที่สภาพคล่องไม่เกิน 3 เดือนเพิ่มขึน

ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ประเมินว่าประชาชนจะเริ่มออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านและท่องเที่ยวตามปกติได้เมื่อมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่น้อยกว่า 50 รายต่อวัน และเกิดได้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565

ทั้งนี้ การสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก หรือ RSI ซึ่งจัดทำโดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย และรายงาน Business Intelligence มีการรายงานเป็นประจำทุกเดือน เพื่อสะท้อนภาวะการบริโภคของประชาชน และภาคธุรกิจไทยอย่างสม่ำเสมอ