แบงก์ชาติเผยมี.ค. 63 เศรษฐกิจทรุดหนัก มองไตรมาส 2 เศรษฐกิจจะแย่กว่าไตรมาสแรก

1020
0
Share:

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมี.ค. หดตัวสูง เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เช่นเดียวกับไตรมาส 1 ปีนี้ ที่หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุปสงค์ต่างประเทศและในประเทศ
.
สำหรับภาคท่องเที่ยวพบว่า หดตัวแรง หลังหลายประเทศรวมถึงไทยประกาศใช้มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนมี.ค. อยู่ที่ 819,000 คน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 2.06 ล้านคน หรือติดลบ 76.4% ขณะที่ไตรมาสแรกนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 6.6 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 38%
.
อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวที่ลดลงนั้น เป็นการหดตัวสูงในทุกสัญชาติ จากผลของการระบาดไวรัสโควิด-19 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ลดลงมากส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะโรงแรม ภัตตาคาร และธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร
.
ด้านการส่งออกสินค้าในเดือนมี.ค. ติดลบ 2.2% จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 3.6% และหากไม่รวมทองคำติดลบ 6.5% ขณะที่ไตรมาส 1 ขยายตัว 1.5% และหากไม่รวมทองคำติดลบ 3.1% เป็นผลจากทั้งด้านปริมาณตามการลดลงของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 และด้านราคาสินค้าส่งออกที่หดตัวตามราคาน้ำมันดิบ
.
สำหรับการส่งออก เป็นการหดตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเป็นการหดตัวในหลายหมวดสินค้า โดยเฉพาะยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและอุปกรณ์ และสินค้ากลุ่มที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมารตรการปิดเมืองในหลายประเทศ
.
ด้านการนำเข้ากลับมาขยายตัวได้ 4.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากที่หดตัวสูงในเดือนก่อนหน้า หากไม่รวมการนำเข้าทองคำ มูลค่าการนำเข้าขยายตัว 1.3% ตามการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง โดยเฉพาะการนำเข้าจากจีน จากการผ่อนคลายมาตรการการปิดเมือง ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าบางกลุ่มกลับมาขยายตัวได้
.
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 700 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ไตรมาสแรกเกินดุล 9.5 พันล้านดอลลาร์
.
ส่วนการบริโภคภาคเอกชน หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการใช้จ่ายในเกือบทุกหมวด จากปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่อ่อนแอลง ทั้งในด้านรายได้ การจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลง รวมถึงผลจากมาตรการควบคุมและความกังวลต่อโรคโควิด-19 ด้วย
.
ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวสูงขึ้น ตามอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอลง ขณะที่การลงทุนที่หดตัวจากการลงทุนทั้งในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์และหมวดก่อสร้าง สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ลดลง
.
สำหรับรายได้เกษตรกรกลับมาหดตัว ตามปริมาณผลผลิตที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์ในเดือนเม.ย.นี้ว่าจะต่ำกว่าอีกหรือไม่
.
ส่วนตัวที่ยังขยายตัวได้ คือ การใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัว ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ตามการทยอยเบิกจ่ายภายหลังพ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2563 ประกาศใช้ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจในเชิงบวก
.
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจมีทิศทางแย่ลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 0.54% ครั้งแรกนับตั้งแต่มิ.ย. 2560 จากอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่หดตัวสูงขึ้น
.
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดอยู่ที่ 0.54% ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบางมากขึ้น
.
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 มองว่าจะหดตัวสูงขึ้นจากไตรมาส 1 โดยยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยว เศรษฐกิจโลก และผลของมาตรการด้านการเงินการคลัง
.
ทั้งนี้ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลนวงเงิน 5 แสนล้านบาทของธปท. เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี กรณีนี้ถ้าถูกใช้หมดจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ 3% ต่อจีดีพี ส่วนพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทของรัฐ จะต้องติดตามว่าแบ่งใช้จ่ายอย่างไรใน 2 ปีนี้ และที่สำคัญการใช้จ่ายต้องช่วยเหลือคนที่ต้องการจริงๆ