แพงตามกลไกตลาด ผู้ประกอบการเผยไข่ไก่ขาดแคลนทั่วโลก ชี้ราคาไข่ไก่ไทยถูกกว่าต่างประเทศ

788
0
Share:
แพงตามกลไกตลาด ผู้ประกอบการเผย ไข่ไก่ ขาดแคลนทั่วโลก ชี้ราคาไข่ไก่ไทยถูกกว่าต่างประเทศ

นายมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ เปิดเผยว่า จากสุถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกทั่วโลก ทำให้หลายประเทศต้องทำลายแม่ไก่ ส่งผลให้ไข่ไก่ขาดแคลน เช่น สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เป็นต้น ทำให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนจากราคาสูง การจำกัดปริมาณการซื้อ และเข้าถึงยาก ขณะที่ไทยมีการปัองกันอย่างดีไม่มีปัญหาในฟาร์มสัตว์ปีก ประชาชนมีผลผลิตเพียงพอ

โดยในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบปัญหาไข้หวัดนก ทำให้ขาดแคลนไข่ไก่และราคาเพิ่มขึ้นเกือบ 60% จนผู้บริโภคเดือดร้อน ประกอบกับและต้นทุนการเลี้ยงไก่ไข่สูงขึ้น ทั้งราคาอาหารสัตว์ ค่าแรงงาน ค่าบริหารจัดการฟาร์ม เช่นเดียวกับ มาเลเซีย ที่ประสบปัญหาขาดแคลนไข่ไก่ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารปรับราคาสูงขึ้น จากผลกระทบของสงครามยูเครน กดดันให้ผู้เลี้ยงรายเล็กต้องลดปริมาณการเลี้ยง จนต้องสั่งซื้อไข่ไก่ล็อตใหญ่ที่สุด 50 ล้านฟอง จากอินเดีย เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลน ขณะที่กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่น มีการทำลายไก่และนกอื่นๆ ทั่วประเทศจากไข้หวัดนกจำนวน 15 ล้านตัว ทำให้ราคาขายส่งไข่ขนาดกลางในกรุงโตเกียวอยู่ที่ 335 เยน (2.49 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อกิโลกรัม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพิ่มขึ้นมากกว่า 81% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ กล่าวว่า ราคาไข่ไก่ของไทย ยังถูกกว่าประเทศต่างๆมาก และเป็นผลผลิตที่ปลอดภัยจากโรคระบาด ราคาจึงมีการปรับขึ้นตามกลไกตลาดและเหมาะสมกับคุณภาพที่ผู้บริโภคได้รับ โดยไทยมีผลผลิตไข่ไก่เกินความต้องการ โดยเฉพาะช่วงนี้ปิดเทอมความต้องการไข่ไก่ลดลง จึงไม่กระทบต่อการบริโภคในประเทศ ขณะเดียวกันยังเป็นสนับสนุนให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาดี ไม่ขาดทุน ซึ่งราคาอาจปรับขึ้นบ้างตามกลไกตลาด ผู้เลี้ยงไก่ไข่ไทย ก็ประสบปัญหาราคาอาหารไก่ปรับขึ้นประมาณ 3-4 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มที่เหมาะสมอยู่ที่4.00 บาทต่อฟอง แต่ราคาปัจจุบันอยู่ที่ 3.60 บาทต่อฟองเท่านั้น

อย่างไรก็ตามอยากให้รัฐบาลพิจารณามาตรการช่วยเหลือด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อสนับสนุนการผลิตให้ราคาและการผลิตอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพียงพอต่อความต้องการบริโภค ไม่เกิดปัญหาขาดแคลน ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร