โฆษกกทม. แจงเสนอญัตติฯ ขอความเห็นค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวจากสภา กทม. เป็นเรื่องจำเป็น

246
0
Share:
โฆษก กทม. แจงเสนอญัตติฯ ขอความเห็น ค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีเขียว จากสภา กทม. เป็นเรื่องจำเป็น

นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรณีที่สภากรุงเทพมหานครล่ม หลังมีการเสนอญัตติขอความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ทางกรุงเทพมหานครตั้งใจเร่งแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์ของชาวกรุงเทพมหานครโดยตรง จึงมีการเสนอญัตติขอรับความเห็นจากสภา กทม. ในเรื่องแนวทางการเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และญัตติขอรับความเห็นจากสภากรุงเทพมหานคร เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่ามีแนวทางความเห็นในเรื่องนี้ร่วมกันอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชน

โดยในข้อกังวลของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) บางคน ถึงอำนาจในการพิจารณาแนวทางบริหารจัดการและการจัดเก็บค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น กรุงเทพมหานคร ยืนยันว่า ญัตติดังกล่าวไม่ได้เป็นการใช้อำนาจเพื่อขอมติสภากรุงเทพมหานครเพื่อนำไปใช้ดำเนินการใดๆ เป็นเพียงการขอรับความเห็นของ ส.ก.เท่านั้น ซึ่งนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ได้ย้ำว่า “เราไม่ได้ลงมติหรือใช้อำนาจอะไร เราเป็นตัวแทนประชาชน ถ้าเราไม่พูด แล้วประชาชนจะพูดผ่านใคร”

ดังนั้น การขอความคิดเห็นของ ส.ก.ทุกคน จึงมีความสำคัญต่อการบริหารงานของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะ ส.ก. ที่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างหรือเห็นไม่เห็นด้วยในมุมมองต่างๆ ก็จดบันทึกไว้โดยละเอียดเพื่อรวบรวมนำเสนอกระทรวงมหาดไทย ตามหนังสือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยถึงผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2565 เรื่อง ขอทราบแนวทางการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้ว่าฯ กทม. และสภากรุงเทพมหานคร บริหารราชการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอน

สำหรับการยื่นญัตติดังกล่าวเป็นไปเพื่อชี้แจงรายละเอียดในส่วนการบริหารจัดการในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานครให้สภากรุงเทพมหานครได้รับทราบ และเป็นการอธิบายให้ประชาชนเข้าใจเท่านั้น สภากรุงเทพมหานครซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติถือเป็นส่วนสำคัญตามโครงสร้างการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร และมีหน้าที่ในการพิจารณาความเหมาะสม เป็นเสียงสำคัญที่สะท้อนความต้องการของประชาชน ในการใช้จ่ายงบประมาณของกรุงเทพมหานครให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งกรุงเทพมหานครและคนกรุงเทพฯ หากสภากรุงเทพมหานครเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษารายละเอียดในเรื่องนี้ให้รอบคอบรอบด้าน โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมเป็นกรรมการหรือให้ข้อมูล ฝ่ายบริหารก็พร้อมที่จะดำเนินการ