โรคประจำชาวออฟฟิศ! ธุรกิจกายภาพบำบัดพุ่ง 5 เดือน ปี 66 ลงทุนถึง 22 ราย รวม 31.40 ล้าน

260
0
Share:
โรคประจำชาวออฟฟิศ! ธุรกิจกายภาพบำบัด พุ่ง 5 เดือน ปี 66 ลงทุนถึง 22 ราย รวม 31.40 ล้าน

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรช่วงอายุ 25-54 ปี หรือกลุ่มวัยทำงาน จำนวนเกือบ 30 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ) ด้วยอัตราการเกิดและการตายที่ลดลง รวมถึง อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีช่วงเวลาการทำงานที่ยาวนานมากขึ้นประชากรกลุ่มนี้จึงเริ่มตระหนักถึงการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานประจำ หรือที่เรียกว่า ทำงานออฟฟิศ ที่มีพฤติกรรมการนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานและไม่ได้ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้เกิดอาการ ‘ออฟฟิศซินโดรม : Office Syndrome’ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

คลินิกกายภาพบำบัด เป็นทางเลือกใหม่ของคนวัยทำงานที่เกิดอาการออฟฟิศซินโดรม รวมถึงผู้ที่มีอาการบาดเจ็บทางกล้ามเนื้อและกระดูกที่อาจเกิดจากการเล่นกีฬา หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างๆ เนื่องจากสามารถเข้าถึงบริการและนวัตกรรมเครื่องมือในการรักษาที่ตอบโจทย์ตามมาตรฐานสากลและสะดวกสบาย

โดยคลินิกกายภาพบำบัดให้บริการรักษาหลากหลายวิธี เช่น การใช้ความร้อนแสง เสียง ไฟฟ้า การดัด การดึง การนวด การบริหารร่างกาย การใช้เครื่องมือทางกายภาพชนิดต่างๆ เพื่อฟื้นฟู ป้องกัน ปรับปรุง แก้ไขสมรรถภาพของร่างกายที่เสื่อมสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ ส่งผลให้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม และเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองในยุคปัจจุบัน

จากสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจกายภาพบำบัด พบว่าปี 2563 จดทะเบียนจัดตั้ง 12 ราย ทุนจดทะเบียน 158 ล้านบาท ปี 2564 จัดตั้ง 17 ราย (เพิ่มขึ้น 5 ราย หรือ ร้อยละ 41.7) ทุน 31.4 ล้านบาท (ลดลง 126.60 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 80.1) ปี 2565 จัดตั้ง 37 ราย (เพิ่มขึ้น 20 ราย หรือร้อยละ 117.7) ทุน 101.35 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 69.95 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 222.8) และปี 2566 เดือนมกราคม-พฤษภาคม จัดตั้ง 22 ราย ทุน 31.40 ล้านบาท (ม.ค.-พ.ค.65 จัดตั้ง 17 ราย ทุน 36.55 ล้านบาท)

ภาพรวมผลประกอบการของธุรกิจกายภาพบำบัด ปี 2562-2564 รายได้มีความผันผวนเนื่องจากเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยธุรกิจกายภาพบำบัดเป็นธุรกิจบริการที่มีการสัมผัสกัน จึงเป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ ภายหลังที่การระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง ธุรกิจบริการโดยเฉพาะสุขภาพจึงสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ ขยายธุรกิจ/การบริการที่ครอบคลุมตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ และมีการเพิ่มสาขา โดยเฉพาะในตัวเมืองที่ประชากรอยู่หนาแน่น ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และกระแสการตื่นตัวรักสุขภาพของคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้ภาพรวมผลประกอบการกลับมามีทิศทางที่ดีขึ้น

ปัจจุบันธุรกิจกายภาพบำบัดที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 มีจำนวน 175 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.01 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ และมีมูลค่าทุน 1,665.55 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.007 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย ธุรกิจส่วนใหญ่ดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัด จำนวน 163 ราย คิดเป็นร้อยละ 93.14 มูลค่าทุน 1,645.85 ล้านบาท

จากกระแสความนิยมของธุรกิจกายภาพบำบัดที่มีเพิ่มมากขึ้น พบว่ามีแบรนด์กีฬาที่มองเห็นถึงโอกาสในการต่อยอดธุรกิจไปสู่ธุรกิจด้านสุขภาพ ได้เข้ามาลงทุนจัดตั้งคลินิกกายภาพบำบัด และศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาขนาดใหญ่ในประเทศไทย เป็นการเสริมธุรกิจด้านกีฬาที่ดำเนินกิจการอยู่ ทำให้สามารถให้บริการได้อย่างครบวงจร รวมทั้ง สามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้สินค้าและบริการเพื่อขยาย/ต่อยอดสินค้าและบริการ สร้างรายได้แก่ธุรกิจอย่างยั่งยืน ในอนาคตคาดว่าจะมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในธุรกิจมากขึ้น ทั้งจากความนิยม แนวโน้มธุรกิจ (เทรนด์) และความต้องการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันและพัฒนาการให้บริการที่ดีมากกว่าเดิม