ใช้เก่งมาก! คนไทยเสพติดมือถือมากที่สุดในอาเซียน มือถือยกคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม

301
0
Share:
ใช้เก่งมาก! คนไทย เสพติด มือถือ มากที่สุดในอาเซียน มือถือยกคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม

วันที่ 7 กันยายน 2565 เทเลนอร์เอเชีย เปิดเผยผลการศึกษา “Digital Lives Decoded” เกี่ยวกับบทบาทและผลกระทบที่โทรศัพท์มือถือมีต่อวิถีชีวิตของผู้คนใน 8 ประเทศแถบเอเชีย และอาเซียน ได้แก่ บังกลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยสำรวจผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือกว่า 8,000 ราย

ผลสำรวจพบว่า 68% คนไทยรู้สึกว่าโทรศัพท์มือถือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 58% ของทั้ง 8 ประเทศที่สำรวจ มี 27% คนไทยมีความกังวลน้อยที่สุดในเรื่องปัญหาความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานมือถือ ซึ่งต่ำกว่ากับค่าเฉลี่ยที่ 58% อีกทั้งยังแสดงความมั่นใจสูงสุดเมื่อเทียบกับผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศอื่น ๆ ว่าจะสามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอนาคต โดยมีเพียง 63% ที่มีความกังวลในด้านนี้ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 85%

ต่อมา 49% คนไทยยังเห็นประโยชน์และมีแนวโน้มที่จะใช้งานมือถือเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโดยรวมที่ 37% และ 55% หรือมากกว่าครึ่งของคนเมืองคาดว่าจะใช้งานมือถือเพิ่มขึ้นในช่วงเวลานี้ โดยสูงกว่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 41% ของคนที่อาศัยอยู่นอกเมือง

เทเลนอร์เอเชีย เปิดเผยว่า 93% เชื่อว่าการใช้งานโทรศัพท์มือถือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงเป็นผู้นำเทรนด์นี้ ซึ่งพบว่า 63% มองว่าคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับผู้ใช้งานเพศชายที่มีเพียง 52% ในขณะเดียวกัน แนวโน้มนี้มีความชัดเจนมากที่สุดในประเทศไทยสูงถึง 75% และอินโดนีเซียอยู่ที่ 71%

ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าว ดำเนินการในเดือนกรกฎาคม 2565 โดยสำรวจผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือ 8,227 คน ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี และกระจายไปทั่ว 8 ประเทศในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งบังกลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ผู้ตอบแบบสอบถามแบ่งตามเพศเท่า ๆ กัน อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และข้าม 4 รุ่น คือ Gen Z (เกิดปี 2540-2555) คนรุ่นมิลเลนเนียล (เกิด ปี 2524-2539 ; Gen X (เกิด ปี 2508-2523) และเบบี้บูมเมอร์ (เกิดปี 2489-2507)