ไทยพาณิชย์ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นช้าติดอันดับ 155 กลุ่มรั้งบ๊วยของโลก แถมโตต่ำค่าเฉลี่ย

336
0
Share:
ไทยพาณิชย์ ชี้ เศรษฐกิจไทย ฟื้นช้าติดอันดับ 155 กลุ่มรั้งบ๊วยของโลก แถมโตต่ำค่าเฉลี่ย

ศูนย์วิจัย SCB EIC ธนาคารเอสซีบี (ไทยพาณิชย์) เปิดเผยว่า หากมองย้อนกลับไปในอดีต การที่เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 4-5% ต่อปีในช่วงเวลาปกติคงเป็นเรื่องที่ชินตา โดยเฉพาะช่วงเวลาหลังจากประเทศเพิ่งผ่านพ้นปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง หรือ วิกฤตซับไพรม์ในปี 2008 ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย มักจะตามมาด้วยการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้สูงจากปัจจัยฐานที่หดตัวรุนแรง อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะหลังกลับเติบโตช้าลงไปมาก โดยเฉพาะช่วงการฟื้นตัวหลังวิกฤต COVID-19 ปี 2023 ดูเหมือนจะเป็นอีกปีที่เศรษฐกิจไทย “น่าผิดหวัง” จากตัวเลขเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นปีที่ออกมาต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ไปมาก โดยเฉพาะตัวเลข GDP ในไตรมาสสามที่ขยายตัวเพียง 1.5% ทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2023 มีแนวโน้มจะเติบโตต่ำกว่า 3% ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 นับตั้งแต่เกิดการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในภาพรวมยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ระดับ Pre-COVID ได้ ไทยถือเป็นประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าในกลุ่มรั้งท้ายของโลกและปัจจุบันยังต่ำกว่าระดับ Pre-COVID โดย SCB EIC ประเมินไทยอยู่ที่อันดับ 155 จากข้อมูล 189 ประเทศ

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้าและต่ำลงจากค่าเฉลี่ยในอดีต สิ่งนี้สะท้อนจากปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยในหลายมิติที่สะสมมานาน ประกอบกับรอยแผลเป็นจากวิกฤต COVID-19 ทิ้งไว้ ส่งผลให้ระดับศักยภาพการผลิตของเศรษฐกิจไทยลดลง จากเดิมที่ SCB EIC ประเมินไว้อยู่ที่ราว 3.5% ต่อปีในช่วงปี Pre-COVID (2017-2019) เหลือ 3% ต่อปีในระยะต่อไป (2024-2045) สาเหตุสำคัญจาก

1) ปัจจัยทุนต่ำลง เป็นผลจากการลงทุนในประเทศต่ำมานานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงความสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าไทยช้าลงและไม่สม่ำเสมอ เมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในภูมิภาค เช่น เวียดนาม โดยปัจจุบันสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ไทยลดลงจากเกือบ 50% ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งเหลือเพียงแค่ครึ่งเดียว แตกต่างจากหลายประเทศในอาเซียนที่ยังรักษาสัดส่วนการลงทุนในระดับสูง หากมองลึกลงไปจะพบว่า ตั้งแต่หลังวิกฤตซับไพรม์ สัดส่วนการลงทุนต่อการบริโภคภาครัฐลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนการศึกษาและสาธารณสุขที่อยู่ในระดับต่ำ

2) ปัจจัยแรงงานต่ำลง เป็นผลจากไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศลำดับต้นๆ ของโลกที่มีความเสี่ยงจะเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็ว โดย United Nations (2020) ประเมินว่าอาจจะใช้เวลาไม่ถึง 20 ปีนับจากนี้ที่ประเทศไทยจะมีประชากรอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นจากราว 7% เป็น 14% ของประชากรทั้งหมด และกำลังแรงงานไทยมีแนวโน้มจะลดลงราว 7 ล้านคนภายในปี 2040 จากปัจจุบัน

3) ปัจจัยผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity : TFP) ลดลง เป็นผลจากคุณภาพการผลิตทั้งเทคโนโลยีและผลิตภาพแรงงานต่ำ จากสองปัจจัยแรกที่กล่าวไปข้างต้น สะท้อนปัญหาการสะสมทุนและจำนวนแรงงานล้วนเป็นปัญหาเชิงปริมาณ ในขณะที่ปัญหาที่น่าเป็นห่วงและส่งผลให้ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดต่ำลงมากกว่ามาจากปัจจัยผลิตภาพการผลิต ที่เกิดจากการลงทุนเทคโนโลยีและ R&D ต่ำ ผลิตภาพแรงงานไทยที่ปรับลดลงเกือบทุกสาขาการผลิตและยังต่ำกว่าระดับ Pre-COVID ประสิทธิภาพภาครัฐ และความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานหลายมิติที่ประเทศไทยยังมีความสามารถในการแข่งขันต่ำ โดยเฉพาะด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และด้านการศึกษา สะท้อนจากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดย International Institute for Management Development (IMD) ปี 2023 ที่ประเทศไทยเกือบรั้งท้ายอยู่ในอันดับ 53 และ 54 จาก 64 ประเทศ ตามลำดับ