ไทยยังไม่ใช่ฐานผลิตตู้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) สวนทางยอดขายถึงกว่า 80,000 คันแล้ว

290
0
Share:
ไทย ยังไม่ใช่ฐานผลิต ตู้ชาร์จ รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) สวนทางยอดขายถึงกว่า 80,000 คันแล้ว

นายกิตติศักดิ์ เงินงอกงาม ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจโซลูชั่นโครงสร้างพื้นฐานพลังงานของ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า มีความคิดที่จะมาตั้งฐานการผลิตเครื่องชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวีในไทย แต่ต้องรอดูจำนวนการใช้งาน ท่ามกลางอุตสาหกรรมรถอีวีในไทยตอนนี้ไทยอยู่ในจุดนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทุกวันนี้ หลายค่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเริ่มมาติดตั้งโรงงานแบตเตอรี่ โรงงานผลิตรถยนต์ในไทยกันมากขึ้น ทำให้คิดว่าในเมื่อเมืองไทยเป็นฐานการผลิตเหล่านี้ ก็อาจจะเอามาตั้งฐานการผลิตที่ไทยด้วย เพียงแต่ก็ต้องดูแนวโน้มของตลาดซึ่งอาจไม่ใช่ช่วงนี้ เพราะการใช้เครื่องตู้ชาร์จใหญ่กับรถอีวีในเมืองไทยจริงๆ มีประมาณ 100-200 ตู้ ซึ่งจำนวนไม่มาก เมื่อเทียบกับตลาดทั่วโลก ทำให้ต้องมองภาพรวม ทั้งตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลาดออสเตรเลีย และตลาดนิวซีแลนด์

การเติบโตของธุรกิจรถอีวีขึ้นอยู่กับภาครัฐ การที่จะลงทุนตู้ชาร์จรถอีวีขนาดใหญ่นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทที่รัฐบาลถือหุ้นด้วย ถ้าภาครัฐให้การสนับสนุนเยอะ เราก็จะไปได้เยอะ อย่างปีนี้ เมืองไทยอาจจะมียอดขายรถอีวีถึง 100,000 คันทั้งประเทศ นอกจากนี้ ปัจจัยที่สำคัญคือเรื่องบุคลากรมีความรู้ตรงกับที่ต้องการหรือไม่ ซึ่งเรื่องบุคลากรยังมองว่ายังขาดบุคลากรที่มีความรู้เรื่องเซมิคอนดักเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับประเทศไทยนั้น มีการติดตั้งเครื่องชาร์จไฟฟ้าขนาดใหญ่ใช้กับรถอีวีมีจำนวนน้อยมาก เช่น ตู้ชาร์จไฟฟ้ากระแสตรงทั้งแบบ DC city charger และ DC fast charger ทั่วโลก ซึ่งเดลต้าติดตั้งไปแล้วกว่า 150,000 ตู้ ขณะที่ประเทศไทยมีเพียงราว 300 ตู้นับตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน

แม้เดลต้าจะมีฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย แต่สำหรับการผลิตเครื่องชาร์จไฟฟ้ากับรถอีวีทั้งแบบกระแสสลับ AC charger และกระแสตรง DC charger นั้น เดลต้ากลับเลือกผลิตที่จีน ไต้หวัน และสโลวะเกีย

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจโซลูชั่นโครงสร้างพื้นฐานพลังงานของ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ถึงแม้จะยังไม่ใช่ช่วงเวลาในการลงทุนผลิตจุดชาร์จไฟฟ้าแต่เดลต้าตัดสินใจลงทุนตั้งโรงงานชิ้นส่วนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ 8 สำหรับผลิตชิ้นส่วนรถอีวีในไทย ซึ่งจะเริ่มเดินเครื่องในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ รวมถึงตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา ทั้งหมดโดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากนโยบาย New S-curve ของรัฐบาล ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี