ไม่คุ้นชิน! ตะลึงเด็กนักเรียนไทยเก่งไม่แพ้ใคร แต่ไม่ชินทำข้อสอบ ถนัดทำข้อสอบกระดาษ

206
0
Share:
ไม่คุ้นชิน! ตะลึงเด็ก นักเรียนไทย เก่งไม่แพ้ใคร แต่ไม่ชินทำข้อสอบ ถนัดทำ ข้อสอบกระดาษ

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องข้อเสนอการยกระดับผลการทดสอบ PISA โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานการจัดการศึกษา สนับสนุนการจัดการศึกษาทุกภาคส่วนเข้าร่วมกว่า 200 คน โดย ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา หรือ สกศ. กล่าวว่า สกศ. มองกว้างๆ ปรากฏว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงในการจัดการศึกษาของประเทศไทย มี 3 เรื่อง คือ เรื่องแรก ประเทศไทยมีการกำหนดแผนเป็น 3 ระดับ ซึ่งนโยบายด้านการศึกษา และแผนการศึกษาแห่งชาติ เป็นแผน 20 ปีที่ต้องผ่านมติคณะรัฐมนตรี แต่การให้ความสำคัญอยู่แค่แผนระดับที่ 3 เท่ากับแผนหน่วยงาน ดังนั้น การขับเคลื่อนจึงเกิดปัญหาในการขับเคลื่อน ซึ่งต้องมีการผลักดันให้ยกระดับไปอยู่ในแผนระดับที่ 2

เรื่องต่อมา คือการพัฒนาการเรียนการสอนครู จะประเมินผู้เรียนตามสภาพจริง ประเมินจากการสอน ไม่ได้ประเมินจากหลักสูตร และเรื่องสุดท้าย คือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา นักเรียนมีความเครียด มีดราม่าเรื่องการทดสอบต่างๆ เยอะ เรื่องการทดสอบระดับชาติและการทดสอบนานาชาติก็เป็นเรื่องความสมัครใจ ทำให้ PISA ถูกลดความสำคัญลง และเด็กก็ไม่คุ้นชินกับรูปแบบการทดสอบ

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ กระทรวงศึกษาธิการ หรือ ศธ. ในฐานะโฆษก ศธ. กล่าวว่า ผลประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) ซึ่งคณะทำงานดังกล่าวได้มีการหารือถึงการยกระดับการสอบของนักเรียนปี 2025 ต้องยอมรับว่าผลประเมิน PISA มี คะแนนต่ำลงกว่า 2 ปีที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ผู้เรียนในห้องเรียนลดลง ต้องปรับเรียนออนไลน์แทน

ด้าน รศ.ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการ สสวท.กล่าวว่า ผลคะแนน PISA ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงไทยประเทศเดียวที่ผลการประเมิน PISA ต่ำสุดในรอบ 20 ปี แต่เกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก ประเทศที่ผลการประเมินอยู่ในอันดับต้นๆ เช่น สิงคโปร์ มาเก๊า เป็นต้น ที่ยังทำคะแนนได้ดี เพราะเด็กสิงคโปร์มีทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเองดี ครูปรับตัวได้เร็ว สามารถเชื่อมต่อกับนักเรียนได้ และปรับการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ได้ ฉะนั้นถ้าต้องการให้เด็กไทยมีผลประเมินสูงขึ้น จะต้องทำให้เด็กไทยเข้าถึงสื่อการเรียนรู้จากที่ไหนก็ได้ ซึ่ง สสวท. ทำไว้จำนวนมาก แต่จะต้องทำให้เด็กไทยมีอุปกรณ์ หรือเครื่องสื่อสารสำหรับเด็กต้องมีพร้อม ซึ่งที่ผ่านมาเด็กบางกลุ่มไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

ถ้าสังเกตดูผลการประเมิน PISA เมื่อปี 2009 และ 2012 จะเห็นว่าคะแนนกระดกหัวขึ้น เพราะชินกับข้อสอบกระดาษ เข้าใจข้อสอบ โดยข้อสอบจะเน้นทักษะการแก้ปัญหา มีคำตอบแบบตัวเลือก เขียนตอบ และอธิบายคำตอบ ซึ่งเด็กไทยไม่คุ้นกับการอธิบายคำตอบ แต่การประเมิน PISA 2015 เปลี่ยนสอบผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งเด็กไทยไม่คุ้น จึงต้องจัดอบรมให้เด็กทำข้อสอบผ่านคอมพิวเตอร์ ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าเด็กไทยมีความรู้ความสามารถ แต่ไม่คุ้นการทำข้อสอบผ่านคอมพิวเตอร์ ต้องทำข้อสอบแบบ Interactive คือข้อสอบที่ให้ทดลองทำเหมือนการทดลองวิทยาศาสตร์

ทั้งนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD เปิดเผยผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ปี 2022 ของนักเรียนอายุ 15 ปี ประมาณ 29 ล้านคน จาก 81 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ สำหรับผลการประเมิน PISA 2022 ของไทย มีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 394 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 409 คะแนน และด้านการอ่าน 379 คะแนน ซึ่งทุกวิชามีผลคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD โดยคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 472 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 485 คะแนน และการอ่าน 476 คะแนน ทำสถิติผลการประเมินย่ำแย่ที่สุดในรอบ 20 กว่าปี