ไม่บังคับเปลี่ยนเป็นไมโครบัสเพราะกลัวค่าโดยสารเพิ่ม

861
0
Share:

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงนโยบายการไม่บังคับให้ปรับเปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัสหรือมินิบัส เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ ผู้ประกอบการมีรายได้ไม่เพียงพอ ที่จะเปลี่ยนรถตู้ไปเป็นไมโครบัสที่มีราคาสูง หรือประมาณ 2.2 ล้านบาทต่อคัน จากราคารถตู้ที่อยู่ประมาณ 1.2-1.3 ล้านบาทต่อคัน และ หากใช้มาตรการบังคับ จนทำให้ผู้ประกอบการไม่มีกำลังซื้อรถไมโครบัส อาจทำให้ปริมาณรถในระบบที่เคยให้บริการลดลง และส่งผลกระทบกับประชาชนในอนาคต
.
ที่สำคัญจะทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้น การปรับราคาค่าโดยสารก็จะสูงขึ้นเช่นกัน และถ้าต้นทุนสูงขึ้น ก็จะส่งผลให้มีการขับรถเร็วเพื่อ “ทำรอบ” เพิ่มขึ้นด้วย
.
อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัสต้องมีมาตรการรองรับเสียก่อน
เช่น การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจัดซื้อรถให้แก่ผู้ประกอบการ เนื่องจากต้องมีการเปลี่ยนรถมากกว่า 10,000 คัน รวมเป็นวงเงินมากกว่า 20,000 ล้านบาท
.
ขณะที่การจัดหาระบบซ่อมบำรุงรถไมโครบัส ซึ่งเกือบ 100% เป็นรถนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น ระบบการซ่อมบำรุง ชิ้นส่วนอะไหล่ และอุปกรณ์ ต้องมีความพร้อม เพราะอาจจะกระทบต่อเสถียรภาพของระบบริการประชาชนได้
.
นอกจากนี้หากใช้มาตรการบังคับ อาจจะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากเลิกดำเนินการธุรกิจต่อไป และนำไปสู่การผูกขาดโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ ขณะเดียวกันการให้เปลี่ยนด้วยระบบสมัครใจ จะทำให้มีการตรึงราคาค่าบริการไว้ได้ ไม่เพิ่มภาระให้ประชาชน
.
สำหรับในส่วนของมาตรการรักษาความปลอดภัยนั้น จากสถิติอุบัติเหตุของรถตู้ส่วนใหญ่ จะเกิดขึ้นจากสมรรถนะทางร่างกายและจิตใจของผู้ขับ รวมถึงสภาพแวดล้อม 72% และมีสาเหตุจากยานพาหนะเพียง 2.9% เท่านั้น ขณะที่รถโดยสารทั่วไป มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากผู้ขับ 67% และเกิดจากรถเพียง 6.8% ดังนั้น สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก คือ ผู้ขับยานพาหนะ และการปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเข้มงวด
.
ด้านนายปัญญา เลิศหงิม นายกสมาคมรถตู้กรุงเทพและปริมณฑล กล่าวว่า ยอมรับว่าการเปลี่ยนเป็นรถมินิบัส ผู้ประกอบการสู้ต้นทุนรถใหม่ไม่ได้จริงๆ จึงใช้ภาคสมัครใจ เส้นทางไหนมีกำไรมีผู้โดยสารเยอะก็ให้เปลี่ยนเป็นมินิบัส ส่วนเส้นทางที่ขาดทุนก็ให้ใช้รถตู้แบบเดิมเพราะสู้ราคาไม่ไหว อีกทั้งจุดจอดรถตู้สาธารณะหลายแห่งยังไม่เหมาะสมให้จอดมินิบัสด้วย
.
แต่เข้าใจมุมมองของประชาชนและนักวิชาการ แต่ก็ต้องเข้าใจหัวอกผู้ประกอบการด้วย ทุกวันนี้รายได้ไม่พอ โดนรถไฟฟ้ากินสัดส่วนรายได้ลดลงไปเรื่อยๆ รัฐก็ไม่มีเยียวยาและรับประกันความเสี่ยงหากลงทุนไปแล้วขาดทุน เพราะการลงทุนเพิ่มขึ้นคันละ 2.2 ล้านบาท ต้องผ่อนชำระเดือนละ 30,000 บาท
.
ส่วนเรื่องความปลอดภัย ปัจจุบันมีการล็อคความเร็ว GPS อยู่แล้ว จึงขอถามกลับว่ารถมินิบัสบรรจุคนได้ 21 คนกับรถตู้บรรจุคนได้ 12 คน หากเกิดอุบัติเหตุหรือตายทั้งคัน รถแบบไหนจะสูญเสียมากว่ากันเชิงปริมาณ ต้องดูผู้ประกอบการด้วย ไม่ใช่จะเอาแต่นั่งสะดวกขึ้นลงสบาย