3 ยักษ์ธนาคารระดับโลกสับตัวเลขจีดีพีจีนปีนี้หลุด 5% คาดชะลอตัว 2 ปีติด ศก.จีนซบเซา

179
0
Share:
3 ยักษ์ธนาคารระดับโลกสับตัวเลขจีดีพี จีน ปีนี้หลุด 5% คาดชะลอตัว 2 ปีติด เศรษฐกิจ จีน ซบเซา

ธนาคารเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา ประกาศปรับลดคาดการณ์ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนแผ่นดินใหญ่ในปีนี้จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวระหว่าง 5.5% ถึง 6.0% ลงเหลือเพียง 4.5% ถึง 4.8% และยังปรับลดตัวเลขดังกล่าวในปี 2567 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 6.4% มาอยู่ที่ 4.2%

สอดคล้องกับธนาคารบาร์เคลย์ส อังกฤษ ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีของจีนแผ่นดินใหญ่ในปี 2566 ลดลง 0.4% ทำให้เหลือเพียง 4.5% อย่างไรก็ตาม ยังคงตัวเลขคาดการณ์จีดีพีในปี 2567 ไว้ที่ระดับเดิม 4% ด้านธนาคารมิซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ซึ่งเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่ชื่อดังของญี่ปุ่น ประกาศปรับลดตัวเลขประเมินจีดีพีของจีนแผ่นดินใหญ่ในปีนี้ลงมาเหลือที่ 5% จากระดับเดิม 5.5%

เมื่อวานนี้ ธนาคารจีนแผ่นดินใหญ่ หรือพีบีโอซี แถลงว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นระยะ 7 วัน ซึ่งเป็นดอกเบี้ยหลักสำคัญที่สุดในการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ โดยลดลง 0.1% ลงมาแตะที่ระดับ 1.8% และลดดอกเบี้ยระยะกลางอายุ 1 ปี ซึ่งเป็นดอกเบี้ยหลักสำคัญในการบริหารการปล่อยสินเชื่อระยะกลาง โดยลดลง 0.15% มาอยู่ที่ 2.5% และมีผลทันที การลดดอกเบี้ยดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2020 หรือตั้งแต่เปิดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ในจีนแผ่นดินใหญ่

สาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจจีนแผ่นดินใหญ่ชะลอตัวต่อเนื่อง และเกิดภาวะซบเซา โดยเฉพาะเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้น พบว่าตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่ชะลอตัวชัดเจน ได้แก่ การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเพียง 3.7% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4.3% ตัวเลขยอดขายปลีกเพิ่มเพียง 2.5% ซึ่งแย่กว่าที่คาดไว้ว่าจะขยายตัวที่ระดับ 4% ยอดว่างงานตามเมืองใหญ่เพิ่มขึ้นเป็น 5.3% จากเดือนมิถุนายนที่ระดับ 5.2%

นอกจากนี้ ตลาดสินเชื่อเดือนกรกฎาคมตกต่ำมากที่สุดในรอบ 14 ปี หรือตั้งแต่กรกฎาคมปี 2009 เป็นต้นมา โดยปล่อยสินเชื่อได้เพียง 345,900 ล้านหยวน หรือราว 1.73 ล้านล้านบาท ในขณะที่คาดการณ์ว่าสินเชื่อดังกล่าวในเดือนกรกฎาคมควรทำได้ที่ 780,000 ล้านหยวน หรือราว 3.9 ล้านล้านบาท

สอดคล้องกับกำลังซื้อผู้บริโภคชาวจีนตกต่ำ สะท้อนจากตัวเลขเงินเฟ้อทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตในเดือนกรกฎาคมลดลงครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปี หรือนับตั้งแต่ปลายปี 2020 เป็นต้นมา ส่งผลเศรษฐกิจตีนแผ่นดใหญ่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปีด้วย