4 แบงก์ไทยติดรายชื่อในเอกสารลับ FinCen มีเอี่ยวปล่อยโอนเงินผิดกฎหมาย

3470
0
Share:

เว็บไซต์ของสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) เผยธนาคารพาณิชย์ 4 แห่งของไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมการโอนเงินที่น่าสงสัย โดยข้อมูลดังกล่าวมาจากเอกสารของเครือข่ายสืบสวนอาชญากรรมทางการเงินสหรัฐ หรือ FinCen ที่หลุดออกไปถึงสื่อของสหรัฐ และถูกแชร์เป็นวงกว้างโดย ICIJ
.
เว็บไซต์ www.icij.org ได้มีการยกตัวอย่างธุรกรรมการโอนเงินที่น่าสงสัย 92 รายการผ่าน 4 ธนาคารพาณิชย์ของไทย ประกอบด้วยธนาคารเอกชน 3 แห่ง และธนาคารรัฐ 1 แห่ง คิดเป็นมูลค่ารวม 41,308,752 ดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการรับเงิน 9,558,752 ดอลลาร์สหรัฐ และการส่งเงิน 31,750,000 ดอลลาร์สหรัฐ
.
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งทั่วโลกได้ปล่อยให้มีการโยกย้ายเงินผิดกฎหมายจำนวนมากเป็นเวลานานเกือบ 20 ปี แม้จะมีสัญญาณเตือนเกี่ยวกับแหล่งที่มีของเงินดังกล่าวก็ตาม โดยเอกสารลับของ FinCen ได้เผยข้อมูลเกี่ยวกับการโอนเงินมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ในระหว่างปี 2542- 2560 ซึ่งเงินเหล่านี้ได้รับอนุมัติการทำธุรกรรมโดยหน่วยงานภายในของสถาบันการเงินที่อยู่ในข่ายต้องสงสัย
.
นอกจากนี้ เอกสารยังระบุว่า ชื่อของธนาคารเอชเอสบีซี, เจพีมอร์แกน เชส, ดอยซ์แบงก์, สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และแบงก์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน ถูกระบุอยู่ในเอกสารดังกล่าวนี้อยู่บ่อยครั้ง
.
สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า หุ้นของ HSBC ในฮ่องกง ร่วงต่ำสุดในรอบ 25 ปี หลังจากเกิดกรณีเอกสารรายงานกิจกรรมน่าสงสัย หรือ SAR ถึง 2,657 ฉบับ จากเครือข่ายสืบสวนอาชญากรรมทางการเงินสหรัฐฯ หรือ FinCEN รั่วไหลไปยังสื่อต่างๆ ซึ่งเอกสารดังกล่าวได้ถูกตีความว่าธนาคารได้ปล่อยให้มีการธุรกรรมทางการเงินที่เข้าข่ายต้องสงสัย
.
การเปิดเผยดังกล่าวส่งผลให้หุ้นของ HSBC ในฮ่องกงตกลงร้อยละ 4.4 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 29.60 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือ 118.93 บาท ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2538
.
ขณะที่นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับตัวลงค่อนข้างมาก เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่ส่วนใหญ่ปรับตัวลงราว 1% ขณะที่ตลาดในยุโรปร่วงแรงถึง -3% เช่นเดียวกับดาวโจนส์ฟิวเจอร์สที่ติดลบ 2% รับผลจากข่าวธนาคารพาณิชย์หลายแห่งทั่วโลกได้ปล่อยให้มีการโยกย้ายเงินผิดกฎหมายจำนวนมากเป็นเวลานานเกือบ 20 ปี ส่งผลให้หุ้นในกลุ่มสถาบันการเงินถูกดึงลงมา และมีการขายสินทรัพย์เสี่ยงหันไปถือเงินดอลลาร์สหรัฐก่อน ซึ่งเงินดอลลาร์สหรัฐก็แข็งค่าขึ้นด้วย ทำให้มีแรงขายหุ้นในเอเชีย
.
ตลาดบ้านเราก็เผชิญแรงกดดันจากการโยกย้ายเงินทุนหลังเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น แม้ว่าการชุมนุมทางการเมืองจะจบไปแล้วในช่วงสุดสัปดาห์อย่างไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น
.
โดยภาวะตลาดหุ้นไทยปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,275.16 จุด ลดลง 13.23 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -1.03% มูลค่าการซื้อขาย 40,183.89 ล้านบาท