5 แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรวมตัวครั้งแรกใน 50 ปี ทุบโต๊ะขึ้นราคาต้อง 8 บาทเท่านั้น

451
0
Share:

ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ประกอบด้วย บ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) บ.โชคชัยพิบูล จำกัด บ.โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด บ.วันไทย อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด และบ.นิสชินฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ร่วมแถลงเปิดใจครั้งแรก ถึงต้นทุนการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปัจจุบัน ต้นทุนการผลิตพุ่งสูงมาก ทั้งจากแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม จนประสบภาวะขาดทุนในบางเดือน พร้อมนัดบุกกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ยื่นทวงคำตอบ กรณีทำหนังสือขอขึ้นราคาไปหลายรอบ ซึ่งรอบล่าสุดได้ขอขึ้นราคาหน้าซองเป็น 8 บาทต่อซอง พร้อมเผยขณะนี้ผู้ผลิตต่างต้องปรับพอร์ตขายต่างประเทศมากขึ้น เพื่อชดเชยราคาขายในประเทศ

นายวีระ นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ ไวไว เปิดเผยว่า ปัจจุบันต้นทุนการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพุ่งขึ้นสูงมาก โดยเฉพาะแป้งสาลี และน้ำมันปาล์ม ทำให้ในไตรมาส 1 ประสบปัญหาขาดทุน พร้อมเผยที่ผ่านมาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปรับราคาครั้งล่าสุดปี 2551 ปรับจาก 5 บาทเป็น 6 บาท แต่ปัจจุบันยังไม่มีการปรับราคาแม้ว่าต้นทุนต่างๆ จะเพิ่มสูงขึ้น เงินเฟ้อก็สูงขึ้น แต่ก็ได้พยายามตรึงราคา และปรับตัวโดยการลดโปรโมชันต่างๆ ลง ตัดส่วนลดให้ร้านค้า แต่ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ยังต้องเจอน้ำมันแพงด้วย และในอนาคตก็อาจจะต้องมี ต้นทุนค่าแรงเพิ่มอีก จึงอยากขอให้กรมการค้าภายในอนุมัติให้ขึ้นราคา เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่รอด แต่หากยังไม่ได้รับอนุมัติก็จะมุ่งขายต่างประเทศแทน เพราะในต่างประเทศสามารถขึ้นราคาได้ ตอนนี้ก็ขึ้นราคาไปแล้ว 2 รอบ

เช่นเดียวกับนายกิตติพศ ชาญภาวรกิจ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท วันไทย อุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิต ยำยำ ที่ยอมรับว่า วัตถุดิบหลักแป้งสาลีตอนนี้พุ่งสูงขึ้นกว่า 40% ปาล์น้ำมันก็พุ่งสูงขึ้นมาก ตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาด เรียกว่ากราฟพุ่งขึ้นทุกปี กระทบต้นทุนการผลิตหนักมาก จึงวอนกรมการค้าภายใน พิจารณาอนุมัติขึ้นราคาสินค้าด้วยเพื่อช่วยผู้ผลิตด้วย อย่างไรก็ตามสำหรับสินค้าในต่างประเทศ ล่าสุดมีการปรับขึ้นแล้วซึ่งราคาขายสูงกว่าไทยราว 2 เท่า

นายฮิจิริ ฟูกุโอกะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิชชิน ฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า บริษัทเผชิญวิกฤติต้นทุนเหมือนกับผู้ผลิตบะหมี่ฯ ทุกราย แต่นิชชิน มีสินค้าทำตลาดในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน สหรัฐ อินเดีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฯ จากภาวะต้นทุนที่พุ่ง ทำให้บริษัทมีการปรับราคาสินค้าในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนขึ้นราว 5-12% ดังนั้นจึงควรมีการการขยับราคาให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ผลิตมีกำไรสมเหตุสมผล เพื่อผลิตสินค้าส่งมอบถึงผู้บริโภคในตลาดอย่างต่อเนื่อง

นายปริญญา สิทธิดำรง กรรมการ บริษัท โชคชัยพิบูล จำกัด ผู้ผลิต ‘ซื่อสัตย์’ กล่าวว่า ภาวะต้นทุนการผลิตสินค้าถือว่าชนเพดาแล้วจริงๆ ทำให้บริษัทดำเนินการขอขึ้นราคาสินค้า ขณะที่ผ่านมาบริษัทไม่ได้ขาดทุนกำไรเท่านั้น แต่เป็นการเผชิญภาวะ “ขาดทุน” จริงๆ ติดตัวแดง เพราะในประเทศบริษัทขายค่อนข้างมาก ตัวสินค้า 6 บาท มีสัดส่วนราว 70%

ด้านนายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักอำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิต “มาม่า” กล่าวว่า ภาวะต้นทุนพุ่งสูง กระทบการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี ที่ผู้ผลิตต้องมานั่งบนเวทีเดียวกัน เพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหวแล้วจริงๆ โดยต้นปี 2563-2564 ราคาน้ำมันปาล์มอยู่ที่ประมาณ 20 บาท/ลิตร

แต่ขณะนี้อยู่ที่ ประมาณ 50 บาท/ลิตร ส่วนแป้งสาลี เพิ่มขึ้นมากกว่า 40% ทำให่ราคาพุ่งไปที่เกือบ 500 บาท/ถุง (22 กก.) ทำให้เฉพาะต้นทุนแป้งสาลีและน้ำมัน ต่อบะหมี่กึ่ง 1 ซอง อยู่ที่บาทกว่าๆ ยังไม่รวมค่ากล่อง ค่าซองที่เพิ่มขึ้นอีก

แม้ว่าที่ผ่านมามีกระแสข่าวการขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาโดยตลอด แต่ผู้ผลิตไม่สามารถขึ้นได้ เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นสินค้าจำเป็นและถูกควบคุมเข้มงวด จะขยับขึ้นราคาต้องได้รับอนุมัติจากภาครัฐเท่านั้น ส่วนในต่างประเทศ ผู้ผลิตสามารถขึ้นราคาได้ เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าเสรี ทำให้ขณะนี้ผู้ผลิตมุ่งส่งออกมากขึ้น ซึ่งขณะนี้สัดส่วนขายต่างประเทศของมาม่า อยู่ที่ 30% 70% ขายในประเทศ

“ไม่ได้บอกว่า จะทำให้สินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขาดตลาด และยันยันจะไม่ลดกำลังผลิต เพื่อให้สินค้าขาดแคลน เพราะเรากำลังรอให้กรมการค้าภายในอนุมัติขึ้นราคา แต่ผู้ผลิตอาจจะต้องลดกำลังผลิตสินค้าบางรายการที่ขายได้น้อย” นายพันธ์ กล่าว

ดังนั้น พรุ่งนี้ผู้ผลิต จึงนัดรวมตัวยื่นหนังสือทวงคำตอบจากกรมการค้าภายใน ว่าจะให้ขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากซองละ 6 บาท เป็น 8 บาท ตามที่ได้ทำหนังสือขอไปแล้วก่อนหน้านี้หรือไม่