ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะ 600 หรือ 400 บาท ยังมีลุ้นหรือดับฝัน? หลังเอกชนค้านชนฝาขึ้นพรวดเดียว มีหวังสะเทือนภาคอุตสาหกรรม

1487
0
Share:

ขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำ จะ 600 หรือ 400 บาท ยังมีลุ้นหรือดับฝัน? หลังเอกชนค้านชนฝาขึ้นพรวดเดียว มีหวังสะเทือนภาคอุตสาหกรรม

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะ 600 หรือ 400 บาท ยังมีลุ้นหรือดับฝัน? หลังเอกชนค้านชนฝาขึ้นพรวดเดียว มีหวังสะเทือนภาคอุตสาหกรรมระส่ำ ซ้ำเติมแบกต้นทุนหนักอึ้ง เสี่ยงปิดกิจการเลิกจ้างงานซ้ำรอยอดีต

หลังจากจบฤดูกาลแห่งความยืดเยื้อในการจัดตั้งรัฐบาล ล่าสุด “พรรคเพื่อไทย” ก็พลิกผันได้ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จากที่ก่อนหน้านี้ “พรรคก้าวไกล” เป็นผู้กุมชัยชนะไปก่อน แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถไปถึงฝั่งได้ ต้องส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทย และแน่นอนว่านโยบายชูโรงของเพื่อไทย นอกจากแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทแล้ว ยังมีนโยบายซื้อใจแรงงานอย่างการปรับขึ้นค่าแรง 600 บาทอยู่ด้วย

ซึ่งก็เชื่อว่าบรรดาผู้ใช้แรงงานต่างรอความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะในช่วงเลือกตั้งบรรดาพรรคการเมืองต่างก็ขายฝันถึงนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างแบบก้าวกระโดด หวังซื้อใจผู้ใช้แรงงานแบบฮาร์ดเซลเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่ฟันธงว่าจะปรับขึ้นให้ได้ 600 บาท ภายในต้นปีหน้าหลังจากได้เป็นรัฐบาล

แต่การก้าวขึ้นม็าเป็นพรรครัฐบาลนี้ ยังคงคอนเซ็ปต์รัฐบาลผสมเช่นเดิม จากการรวบรวม สส.จากหลายพรรค หลายขั้ว ดังนั้นการดำเนินจะนโยบายแบบยิงปืนโป้งเดียวกระสุนเจาะเป้าหมายเลยนั้นคงจะยาก นโยบายขึ้นค่าแรงก็เช่นกัน นอกจากความเห็นจากพรรคร่วมแล้ว ยังมีฟากเอกชนผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ถ้าต้องปรับขึ้นค่าจ้าง นายจ้างก็ต้องจ่าย เป็นภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก จึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ

“ซาวด์เช็กนายจ้าง”
ล่าสุด หัวเรือจากกระทรวงแรงงานอย่าง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก็ได้เข้าไปหารือร่วมกับภาคเอกชน เริ่มจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อรับฟังความเห็นจากฝั่งนายจ้าง

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า เรื่องที่มีการพูดกันในช่วงหาเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล เกี่ยวกับ ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ ซึ่งเป็นที่ทราบกันแล้วว่าในนโยบายที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงไปแล้วนั้น ไม่ได้กำหนดและไม่ได้บอกไว้ว่า ‘ค่าแรงขั้นต่’ จะปรับอย่างไรเหมือนกับตอนหาเสียง แต่ด้วยหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน กับทางสภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นั่นก็หมายความว่าเป็นเรื่องของ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และกระทรวงแรงงาน คงต้องทำการหารือกัน ก็เพื่อนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนคำว่าขั้นต่ำในปัจจุบันมีตั้งแต่ 320 กว่าบาท ไปจนถึงสูงสุด 353 บาท ตามพื้นที่ต่างๆ ในแต่ละจังหวัด ว่าแต่ละจังหวัดใดบ้างที่มีค่าแรงที่ประกาศไปแล้วเท่าไร ซึ่งอาจจะไม่เคยได้ยินกันว่ามีการประกาศ ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ 300 บาทเมื่อปี 2555 หลังจากนั้นทางกระทรวงแรงงานกับทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และฝ่ายลูกจ้างได้มีการขึ้นค่าแรงถึง 10 ครั้งด้วยกันตามความหนักเบาของพื้นที่ในแต่ละจังหวัด ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ อาจไม่มีการประชาสัมพันธ์ แต่ก็มีการขึ้นเงินเดือนให้กับผู้ใช้แรงงานตลอด

“ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทพรวดเดียวไม่น่าได้”
ในแนวทาง ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ 400 บาทนั้น นายพิพัฒน์กล่าวว่าต้องหารือกับทุกฝ่ายว่าคำว่า 400 นั้นจะได้ในภาคส่วนไหน ในแรงงานที่ผ่านการ UP Skill ไปแล้วหรือไม่ แต่เราจะไม่ประกาศเป็นแรงงานขั้นต่ำ เพราะเมื่อประกาศเป็นแรงงานขั้นต่ำนั้น ค่าแรงจะต้องกระโดดจาก 350 บาทขึ้นไปอีก 50 บาทซึ่งคิดเป็นถึง 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ ผมก็เชื่อว่าฝ่ายนายจ้างรับภาระไม่ไหว และเอสเอ็มอี จะต้องหายไปจากประเทศไทยของเรา ดังนั้นจะต้องลงในรายละเอียดว่าคำว่า 400 บาท จะได้ในภาคส่วนไหนบ้าง ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ ควรขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ถึงอย่างไร “รัฐบาลมีแนวทางที่จะต้องประกาศเป็นของขวัญปีใหม่ให้ได้”

“ไม่เหมารวมค่าแรง 400 บาท กับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลตั้งธงว่าจะมีการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถระบุตัวเลขที่ชัดเจนได้ เพราะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี แต่ในหลักการเห็นตรงกันว่าน่าจะมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ โดยคาดว่าภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 จะรู้รายละเอียดทั้งหมด

ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 328–354 บาท ซึ่งอยู่กับแต่ละพื้นที่ หากมีการปรับขึ้นไปเป็นวันละ 400 บาทตามที่มีข่าวก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี เพราะแรงงานที่ไม่มีทักษะต้องใช้เวลาฝึกราว 6 เดือนถึง 1 ปี ขณะที่แรงงานที่มีทักษะในปัจจุบันได้รับค่าแรงสูงกว่าวันละ 400 บาทอยู่แล้ว และในบางสาขาได้ค่าแรงวันละ 800 บาทก็ยังขาดแคลน

“ผมต้องการให้ความกระจ่างว่าทำไมกระทรวงแรงงานไม่ประกาศ ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ แต่พยายามบอกว่าเราจะให้ 400 บาทในปี 2567 ในแรงงานที่มีความสามารถแล้ว ซึ่งต้องแยกให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้มีการเหมารวม มั่นใจว่าแรงงานไทยปัจจุบันส่วนใหญ่ มีค่าแรงเกินกว่า 400 บาทอยู่แล้ว”

ทั้งนี้ หลังจากรับฟังความคิดเห็นจากทั้งนายจ้างและลูกจ้างแล้ว นายพิพัฒน์ยังบอกว่าจะไปขอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย โดยจะประกาศค่าจ้างแรงขั้นต่ำได้ในช่วงใกล้ปีใหม่ เพื่อให้เกิดความแม่นยำมากที่สุด

“รับมือสังคมสูงวัยที่จะขาดแคลนแรงงาน”
นายพิพัฒน์กล่าวด้วยว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย เด็กเกิดใหม่มีน้อยลง ในอนาคตสมมุติว่าในปี 2574 เราจะเข้าสู่ยุคสูงวัยของคนไทยถึง 28% จะทำอย่างไร เราจะมีแนวทางพิจารณาขยายอายุงานในบางภาคส่วนได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องทำการบ้านกัน

“ส.อ.ท. เสนอยุทธศาสตร์ยกขีดความสามารถในการแข่งขัน”
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ได้นำเสนอยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ส.อ.ท. ที่มีการขับเคลื่อนทั้งอุตสาหกรรมเดิม (First Industries) ในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-GEN Industries) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม

ฝั่งนายจ้างต่างก็สะท้อนปัญหาว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมกำลังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ภูมิรัฐศาสตร์ และต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล แถมยังมีเรื่องประสิทธิภาพแรงงานไทยในกลุ่มอาเซียน ที่ยังไม่สามารถเทียบเท่าเวียดนามและอินโดนีเซียได้ เพราะยังไม่สามารถฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ได้เต็มที่นัก โดยเปรียบเทียบแรงงานกับนายจ้างว่าต้องทำงานเป็นปาท่องโก๋กัน เพราะอุตสาหกรรมจะเติบโตได้ ต้องมีกระทรวงแรงงานคอยสนับสนุน

“ปรับค่าแรงต้องผ่าน 3 ฝ่าย แต่ละพื้นที่”
นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธาน ส.อ.ท. และประธานสายงานแรงงาน แสดงความคิดเห็นเสริมนายเกรียงไกรอีกว่า การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ควรเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีแต่ละจังหวัดเป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการเจริญเติบโตของจีดีพี ความเดือดร้อนของลูกจ้าง ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และผลิตภาพแรงงาน ให้ปราศจากการแทรกแซงจากหน่วยงานภายนอก

“การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เราจะไม่ได้มีการจ่ายแบบเหมารวม แต่เราจะจ่ายตามทักษะ หรือที่เรียกว่า Pay by Skills เพราะหากจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำแก่แรงงานที่ไม่มีประสบการณ์ ก็จะสร้างความไม่ยุติธรรมต่อแรงงานที่มีประสบการณ์”

“ขึ้นพรวด 600 กระทบธุรกิจแน่ เสี่ยงกิจการปิดตัว ซ้ำรอยในอดีต”
นายรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด (Property DNA) บริษัทที่ปรึกษาการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร ให้ความเห็นว่าการปรับเพิ่มของค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทย อาจจะมีอะไรหลายอย่างที่ตามมาอีก โดยเฉพาะในด้านที่เป็นลบต่อคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่รับค่าแรงขั้นต่ำ และกลุ่มเจ้าของกิจการต่างๆ เพราะค่าแรงขั้นต่ำเป็นอีก 1 ปัจจัยที่กำหนดค่าครองชีพของทุกประเทศ ทั้งในเรื่องของรายได้ของคนทำงาน และในเรื่องของค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการเจ้าของกิจการทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่

โดยในส่วนของฝั่งรายได้ของคนทำงานอาจจะไม่ได้มีผลกระทบอะไรในทางลบมากนัก เพราะรายได้มากขึ้นก็ใช้จ่ายมากขึ้น แต่ในทางกลับกันในฝั่งของผู้ประกอบการเจ้าของกิจการต่างๆ เมื่อค่าใช้จ่ายด้านแรงงานมากขึ้นก็เป็นธรรมดาที่ต้องหาทางชดเชยรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น การปรับเพิ่มของค่าแรงงานขั้นต่ำอาจจะมีผลให้ราคาสินค้าต่างๆ แพงขึ้นแบบชัดเจน และได้รับผลกระทบทางลบโดยตรงต่อคนในวงกว้างมากกว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก็อาจจะไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมาก็ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มของสินค้าอุปโภค บริโภคที่ต้องใช้แรงงานคนในการผลิต ซึ่งแน่นอนว่าอาหารรูปแบบต่างๆ ปรับเพิ่มราคาขึ้นแน่นอน

ในมุมของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไม่เป็นผลดี เพราะอาจจะได้เห็นการปิดกิจการของโรงงานที่ใช้แรงงานจำนวนมากแน่นอน เพราะโรงงานที่รับผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานคนจำนวนมาก อาจจะเลือกที่จะไปตั้งโรงงานที่ประเทศอื่นๆ ที่มีค่าแรงงานต่ำกว่า หรือโรงงานที่รับจ้างผลิตสินค้าจากต่างประเทศโดยมีฐานการผลิตในประเทศไทย แล้วรับออร์เดอร์คำสั่งการผลิตจากประเทศต่างๆ ก็อาจจะมีคำสั่งการผลิตสินค้าลดลงหรือหายไปเลย

“รัฐบาลตั้งธง ต้องขึ้นค่าแรงแน่นอน”
อย่างไรก็ดี ฝั่งนายจ้างก็มั่นใจว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำจะต้องเกิดขึ้นแน่นอนภายในปี 2567 แต่จะต้องมีการหารือในรายละเอียดทั้งในส่วนของแรงงานไทยและแรงงานเพื่อนบ้าน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่งข้อสรุปบทสุดท้ายอาจจะได้เห็นความชัดเจนมากขึ้นในเดือนพฤศจิกายน

เพราะรัฐบาลได้ตั้งธงไว้ชัดเจนว่าถึงอย่างไร การปรับขึ้นค่าแรงก็จะต้องทำ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย เพียงแต่จะต้องมาลุ้นว่าจะได้ 600 บาท หรือ 400 บาท เพราะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ประกาศไว้ว่าผู้ใช้แรงงานทุกคนจะได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเศรษฐกิจไทยหรือจีดีพีจะต้องโตต่อปีไม่ต่ำกว่า 5% ก่อน

แรงงานไทยเราจะได้เฮ หรือจะเซ เพราะถูกดับฝัน ค่าแรงอาจไปไม่ถึงทั้ง 400 และ 600 บาทหรือไม่ ก็เป็นอันต้องลุ้นกันต่อไปในช่วงปลายปีอีกทีแล้วละค่ะ…

BTimes