สื่อโซเชียลมีเดีย คือตัวช่วยใหม่ในการขับเคลื่อนสังคมไทยจริงหรือ ?

952
0
Share:

สื่อ โซเชียลมีเดีย คือตัวช่วยใหม่ในการขับเคลื่อนสังคมไทยจริงหรือ ?

หากติดตามข่าวรายวันในตอนนี้นอกจากเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แล้ว จะเห็นได้ว่ามีข่าวเกี่ยวกับการร้องเรียนร้องทุกข์ของพี่น้องคนไทยผ่านทางสังคมออนไลน์ หรือสื่อโซเชียลมีเดียด้วยการการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น นำไปสู่การพูดถึงจนกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ทำให้หลายสำนักข่าวต้องหยิบยกขึ้นมานำมาเสนอ เพื่อเป็นกระบอกเสียงช่วยส่งต่อความเดือดร้อนนี้ให้กับหน่วยงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นๆ ได้รับรู้รับทราบ และเข้าไปให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

ช่วงหลังมานี้ดูเหมือนว่าช่องทางโซเชียลมีเดียจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการใช้ชีวิตของคนไทยทั้งในมุมบวก เช่น คลิปวิดิโอสนุกสนานที่ช่วยสร้างเสียงหัวเราะและเยียวยาจิตใจในช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ หรืออาจเป็นในมุมของการร้องเรียนปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ที่บางครั้งการดำเนินการด้วยตัวเองอาจไม่เห็นผล หรือเห็นผลช้า จึงต้องอาศัยสื่อโซเชียลมีเดียในการช่วยเปล่งเสียง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และดูเหมือนว่าการกระทำเช่นนี้จะเห็นผลทันตาจริงๆ

ยกตัวอย่างจากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ถ่ายคลิปสวมใส่ชุด PPE เพื่อให้คล้ายกับนักบินอวกาศ พร้อมถือธงชาติไทยไปปักบริเวณถนนที่มีลักษณะพื้นผิวขรุขระเปรียบเสมือนว่าเดินอยู่บนดวงจันทร์ ซึ่งคลิปวิดิโอดังกล่าวกลายเป็นวิดิโอไวรัลที่สร้างความฮือฮาบนโลกโซเชียลเป็นอย่างมาก กระทั่งมีผู้คนแห่เข้ามาแสดงความคิดเห็นถึงกรณีนี้ในหลากหลายแง่มุมอย่างถล่มทลายถึงการพบเห็นถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ สัญจรลำบาก ร้องขอให้แก้ไขไปเป็นปีแต่ก็ไม่มีใครเหลียวแล จนต้องถ่ายคลิปนำเสนอปัญหาผ่านไอเดียสุดล้ำลงโซเชียลมีเดียจนดังระเบิดระเบ้อเพียงชั่วข้ามคืน ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดสรรงบประมาณซ่อมบำรุงพื้นที่ทันที ซึ่งเห็นได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นปัญหาที่ไม่ใหญ่ แต่กลับมีผู้ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก แล้วใช่ว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เคยปรากฏขึ้น แต่เมื่อครั้งอดีตประชาชนอาจจะยังเข้าไม่ถึงโซเชียลมีเดีย หรือเข้าถึงแล้วแต่ยังไม่มีอิทธิพลอย่างแพร่หลาย การบอกต่อปัญหานี้จึงเป็นเพียงเสียงสะท้อนเล็กๆ ที่แม้จะตะโกนดังแค่ไหนก็แทบไม่มีใครได้ยิน แต่ในขณะนี้เทคโนโลยีได้เข้ามาดิสรัปให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป การสื่อสารกลายเป็นเรื่องที่รวดเร็วและเข้าถึงง่าย ทำให้เมื่อเหตุการณ์เหล่านี้ถูกเผยแพร่ออกไป ยิ่งเปรียบเสมือนกับเป็นการเพิ่มพลังให้เสียงสะท้อนของปัญหาเหล่านั้นดังขึ้นเรื่อยๆ ดังกระทั่งเข้ากระทบหูของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนต้องเร่งสั่งการเข้าให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วจนน่าประหลาดใจ ก่อให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ‘หรือจะต้องให้ประชาชนร้องเรียนผ่านสื่อโซเชียลมีเดียเท่านั้นใช่ไหม ความช่วยเหลือถึงจะเดินทางมาถึง ?’

แต่อย่าลืมว่าเหรียญมี 2 ด้านเสมอ แม้โซเชียลมีเดียจะให้ประโยชน์ แต่ก็ยังมีภัยแอบแฝง อันจะเห็นได้จากการที่มีข่าวคนถูกโกงจากช่องทางออนไลน์ที่มีออกมาอยู่เรื่อยๆ แทบทุกวัน โดยมิจฉาชีพมักสร้างโปรไฟล์ที่ดูน่าเชื่อถือ หรือใช้ความเชื่อใจหลอกให้โอนเงิน สุดท้ายก็เชิดเงินหนีหายเข้ากลีบเมฆ ทำให้มีผู้เสียหายเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (Online Complaint Center) ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้บริโภคออนไลน์แจ้งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ ทั้งหมด 28,393 ครั้ง โดยสูงสุด 62.59% เป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาการซื้อขายของทางออนไลน์ รองลงมา 27.06% คือปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมาย เมื่อลงรายละเอียดของปัญหาการซื้อขายของทางออนไลน์จะพบว่า 45% มักเป็นปัญหาการสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า หรือได้รับสินค้าที่ไม่ตรงตามที่สั่งไว้ รองลงมา 29% เป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานตามที่โฆษณา เป็นปัญหาได้รับสินค้าล่าช้า และสินค้าเสียหายตามลำดับ

นอกจากอัตราการก่อเหตุที่เพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่น่าตกใจตามมาอ้างอิงจากการเห็นแฮชแท็กทวงสินค้าที่ติดอันดับมากมายในโลกทวิตเตอร์ จะยิ่งเห็นว่ามิจฉาชีพในปัจจุบันมีอัตราเฉลี่ยอายุน้อยลง กล้าที่จะกระทำความผิดหลอกขายสินค้า แต่ไม่ส่งสินค้า และนำเงินผู้อื่นไปใช้อย่างสุขสบายแบบไม่เกรงกลัวกฎหมายมากขึ้น มีตั้งแต่การโกงอัลบั้มเพลงของศิลปินเกาหลี ไปจนถึงการโกงสินค้าอนิเมะ ซึ่งบางกรณีที่เป็นกระแสโด่งดัง เมื่อดูยอดเงินที่ผู้เสียหายรวมตัวกันเพื่อเก็บเป็นข้อมูลแล้ว ต้องบอกว่าเหยียบหลักล้านเลยทีเดียว…

ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายกรณีที่สามารถจับคนกระทำผิดตัวจริงได้ จากหลักฐานคลิปวิดีโอที่ถ่ายโดยโทรศัพท์มือถือ เพราะบางเหตุการณ์กล้องวงจรปิดก็ใช้ไม่ได้อย่างไม่ทราบสาเหตุ จนทำให้เกิดกรณีแพะรับบาปอย่างที่เห็นเมื่อครั้งอดีต

อย่าลืมว่าปัจจุบันทุกอย่างเปิดกว้าง ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายและรวดเร็ว หรือจะกล่าวว่าเราอยู่ในยุคที่หน้าต่างมีหูประตูมีช่องก็ว่าได้ สิ่งใดที่เคยกระทำได้ในอดีต ปัจจุบันอาจเป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้นเวลาจะทำอะไรต้องมีสติให้มากและอย่าคิดว่าจะไม่มีใครเห็น

อย่างไรแล้วโชเชียลมีเดียต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ทางทีมงาน BTimes จึงอยากฝากให้แฟนเพจทุกคนระมัดระวังและใช้สติในการเสพสื่อ หากรู้จักใช้อย่างถูกวิธีก็จะมีประโยชน์ และอยากฝากทิ้งท้ายอีกนิดว่าก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการใดๆ อยากให้ลองนำชื่อบัญชีที่ต้องโอนไปเช็คสักนิด หรือสังเกตพฤติกรรมผู้ขายสักหน่อย จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของคนที่มีความประสงค์ไม่ดีแอบแฝงค่ะ

BTimes