สรุปเก็บภาษีขายหุ้น เมื่อถึงเวลาแมงเม่าต้องจ่าย ทำไมนักลงทุนรายใหญ่ได้รับยกเว้น?

609
0
Share:

สรุปเก็บ ภาษีขายหุ้น เมื่อถึงเวลาแมงเม่าต้องจ่าย ทำไมนักลงทุนรายใหญ่ได้รับยกเว้น?

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา กระแสมติคณะรัฐมนตรี ที่อนุมัติกฎหมายเก็บภาษีขายหุ้นเป็นที่ฮือฮาและเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย เพราะสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับบรรดานักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยในตลาดบ้านเรา

ซึ่งเป็นที่แน่นอนแล้วว่าไทยจะมีการเก็บภาษีขายหุ้นจากนักลงทุน โดยการเก็บภาษีขายหุ้น หรือ Financial Transaction Tax ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้กระทรวงการคลังดำเนินการจัดเก็บนั้น รัฐประเมินแล้วว่าในปีแรกจะเก็บได้ประมาณ 8,000 ล้านบาท (จากการจัดเก็บที่อัตรา 0.055%) และ ในปีต่อๆ ไปคาดว่าจะจัดเก็บได้ประมาณปีละ 16,000 ล้านบาท (จากการจัดเก็บที่อัตรา 0.11%)

<<ทำไมถึงต้องเก็บภาษีขายหุ้น>>
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (2 ธ.ค.)ได้มีการชี้แจงเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีขายหุ้นโดยละเอียด ซึ่งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ครม. ได้เห็นชอบให้มีการยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และการออมเพื่อเกษียณอายุ

<<การจัดเก็บ เริ่มเก็บตั้งแต่บาทแรก>>
การเก็บภาษีขายหุ้นจะเก็บจากธุรกรรมการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ นับตั้งแต่บาทแรก ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าเพียงแต่ช่วงแรกจนถึงสิ้นปี 2566 จะจัดเก็บที่อัตรา 0.055% เท่ากับว่า หากนักลงทุนขายหุ้น 100 บาท ก็จะเสียภาษี 0.055 บาท หรือขายหุ้น 1,000 บาท ก็จะเสียภาษี 0.55 บาท หรือขายหุ้น 10,000 บาท ก็จะเสียภาษี 5.5 บาท หรือขายหุ้น 100,000 บาท ก็จะเสียภาษี 55 บาท หรือขายหุ้น 1 ล้านบาท ก็จะเสียภาษี 550 บาทนั่นเอง ส่วนปีต่อๆ ไปก็จะจัดเก็บที่ “ล้านละ 1,000 บาท”

<<จะเริ่มเก็บเมื่อไร??>>
ตามร่างพระราชกฤษฎีกาตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะและกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ฉบับที่… พ.ศ. …. ที่กระทรวงการคลังเสนอ มีการกำหนดช่วงระยะเวลาผ่อนผัน (Grace period) เพื่อให้เวลาบริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ต่างๆ ในการทำระบบข้อมูล และเตรียมพร้อมเรื่องการนำส่งภาษีให้กับกรมสรรพากรเป็นเวลา 90 วัน นับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ หรือถ้านับก็จะเริ่มเก็บในวันที่ 1 ของเดือนที่ 4 หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้นั่นเอง

ดังนั้น หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ได้ อย่างเร็วที่สุดคือตั้งแต่เดือน ธ.ค.2565 นี้ การเก็บภาษีขายหุ้นก็จะเริ่มได้ในเดือน มี.ค.2566 ลักษณะการเก็บภาษีประเภทนี้จะจัดเก็บเหมือนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ผู้จัดเก็บจะต้องนำส่งกรมสรรพากรทุกเดือน ดังนั้น จึงคาดว่าน่าจะเริ่มได้ในเดือน เม.ย.2566 หรือตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2566 เป็นต้นไป

<<คลังแจงรายละเอียดชัดๆ>>
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ และกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการยกเว้นการจัดเก็บมาเป็นเวลากว่า 30 ปี โดยแบ่งการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเป็น 2 ช่วง ในอัตรา ดังนี้
* ช่วงที่ 1 จัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.05 (ร้อยละ 0.055 เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
* ช่วงที่ 2 จัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.1 (ร้อยละ 0.11 เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ยังคงการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้แก่
1. ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะการขายหลักทรัพย์ที่บุคคลนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น
2. สำนักงานประกันสังคม
3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
4. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
5. กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
7. กองทุนการออมแห่งชาติ
8. กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคมหรือกองทุนตามข้อ 3–7 เท่านั้น

ขณะที่ในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีนี้ กฎหมายได้กำหนดให้สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ (Broker) ที่เป็นตัวแทนของผู้ขายมีหน้าที่หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขายและยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีในนามตนเองแทนผู้ขาย โดยผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีกให้ยุ่งยาก

<<เก็บภาษีขายหุ้นจะยิ่งทำให้สภาพคล่องในตลาดหายไปหรือไม่?>>
ก่อนหน้านี้นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพได้เคยส่งจดหมาย เปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เบรกการจัดเก็บภาษีขายหุ้นออกไปในช่วงที่ตลาดผันผวนปั่นป่วน เพราะมองว่าจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุน

ส่วนนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด และอดีตประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ก็ได้ออกมาแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ไม่เห็นด้วยเพราะจะทำให้สภาพคล่องในตลาดหลักทรัพย์ฯ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยรวมต่อนักลงทุนทั่วไป ทำให้การซื้อขายหลักทรัพย์มีความคล่องตัวน้อยลง ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคธุรกิจ ทำให้การระดมทุนในตลาดหุ้นทำได้ยากขึ้น และทำให้ต้นทุนทางการเงินของการระดมทุนสูงขึ้น

<<ยอมรับต้นทุนการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้น>>
อธิบดีกรมสรรพากร ยอมรับว่าการยกเลิกการยกเว้นภาษีดังกล่าวอาจส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ ของไทยสูงขึ้นจากร้อยละ 0.17 เป็นร้อยละ 0.22 แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ โดยต่ำกว่าของมาเลเซีย ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.29 และของฮ่องกงซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.38 แต่อาจสูงกว่าของสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.20 เล็กน้อย ซึ่งในปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่มีการลดอัตราภาษีเหลือร้อยละ 0.055 ต้นทุนดังกล่าวจะอยู่ที่ร้อยละ 0.195 ซึ่งใกล้เคียงกับของสิงคโปร์ แค่คาดว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าวนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในระยะยาว

ส่วนเรื่องข้อกังวลว่าหลังจากเก็บภาษีขายหุ้นแล้ว จะทำให้ไทยไม่สามารถเป็นศูนย์กลางการเงินในภูมิภาคได้นั้น หากไปดูประเทศที่เป็นศูนย์ทางการเงินในปัจจุบัน ต่างก็จัดเก็บภาษีดังกล่าวเช่นกัน โดยฮ่องกง จัดเก็บในอัตรา 0.13% เกาหลีใต้ จัดเก็บที่ 0.23% และยังจัดเก็บภาษีจากกำไรการซื้อขายหุ้น (Capital gain) ด้วย

“คลังมั่นใจว่าวันนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมแล้ว และนับเป็นความกล้าหาญของรัฐบาล และมั่นใจว่าตลาดทุนไทยมีความเข้มแข็ง พิจารณาจากวันที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับหลักการเรื่องนี้ ดัชนี SET Index ยังยืนบวกอยู่ได้สะท้อนว่านักลงทุนไม่ได้เพนิกมาก ดังนั้นการจัดเก็บภาษี FTT ควรจะนำกลับมาบังคับใช้ให้เป็นสากล”

<<คลังยืนยัน ไม่ได้เอื้อรายใหญ่>>
ก่อนหน้าวันแถลงข่าวต่างก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า จะมีการยกเว้นภาษีขายหุ้นให้กับนักลงทุนรายใหญ่เพราะมีส่วนสำคัญในการหนุนสภาพคล่องให้ตลาดนั้น อธิบดีกรมสรรพากร ได้ปฏิเสธว่า เป็นการนำเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริงคือมิได้ยกเว้นภาษีให้แก่นักลงทุนรายใหญ่ แต่ยกเว้นภาษีให้แก่ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) กับกองทุนบำนาญ โดย Market Maker คือ บริษัทหลักทรัพย์ (Broker) ที่ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหน้าที่ทําการเสนอซื้อขายหลักทรัพย์ ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และ Market Maker ไม่ใช่นักลงทุนรายใหญ่ตามที่ข่าวได้นำเสนอ

“วันนี้บัญชีซื้อขายหุ้นไทยมีประมาณ 5 ล้านบัญชี แอ็กทีฟอยู่ราว 1 ล้านบัญชี หรือประมาณ 11% ราว 1 แสนคนที่เทรดหุ้นอยู่ 95% ส่วนหุ้นอีก 5% เทรดอยู่ครอบคลุมคนอีก 89% เพราะฉะนั้นกระทบต่อนักลงทุนไม่มาก แต่กลุ่มคนเหล่านี้อาจจะเสียงดังหน่อยจึงเกิดประเด็นขึ้นมาบ้าง แต่หากได้ทำความเข้าใจกันแล้ว ผู้เสียภาษีก็น่าจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้น” นายลวรณ กล่าว

หากมองในแง่ดีก็คือ ภาษีขายหุ้นจะช่วยลดความผันผวนของตลาดได้ และทำให้นักลงทุนระยะยาวมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ดีขึ้น จากการเก็งกำไรจะลดลง เพราะต้นทุนของนักลงทุนจะเพิ่มขึ้น ซึ่งมูลค่าในส่วนของนักลงทุนเก็งกำไรจะลดลงอย่างน้อย 10–15% แน่นอนว่าย่อมมีผลต่อมูลค่าการซื้อในอนาคตที่มีโอกาสจะลดลงตามมา ความคึกคักก็น้อยลง ดังนั้นบรรดานักลงทุนก็ต้องดูให้ยาวๆ ว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดมากน้อยแค่ไหน

BTimes