ข้าวถุงสุดอั้น จ่อคิวขึ้นราคา หลังพาณิชย์สั่งเบรกไว้ก่อน แต่ข้าวสารต่างจังหวัดขึ้นราคาไปแล้ว ผู้บริโภครับกรรมต้องทำใจควักตังค์จ่ายเพิ่ม

865
0
Share:

ข้าวถุงสุดอั้น จ่อคิวขึ้นราคา หลังพาณิชย์สั่งเบรกไว้ก่อน แต่ข้าวสารต่างจังหวัดขึ้นราคาไปแล้ว ผู้บริโภครับกรรมต้องทำใจควักตังค์จ่ายเพิ่ม ราคาข้าว ข้าวถุง

ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่มีข่าวว่าอินเดียประกาศระงับการส่งออกข้าว ราคาข้าวก็ทยอยปรับขึ้น ดันราคาในตลาดสูง สวนทางผลผลิตที่ป้อนให้ตลาดน้อยลง เพราะลำพังแค่ไทยและประเทศขายข้าวอื่นๆ ที่ส่งออกก็อาจจะไม่เพียงพอ ด้วยปัญหาภัยแล้งที่เกิดจากเอลนีโญที่ทำให้ผลผลิตของแต่ละประเทศที่เป็นผู้ส่งออกข้าวได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน ปริมาณผลผลิตจึงลดลงจากแต่ก่อน แม้ข้าวจะราคาดีแค่ไหน แต่ก็อาจจะส่งออกไปไม่พอกับความต้องการของผู้ซื้อก็เป็นได้

และจากราคาข้าวโลกที่พุ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จึงมีผลให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศดีดขึ้นตามมา บรรดาชาวนาได้ยิ้มออกกันบ้าง เพราะข้าวขายได้ราคาดีกว่าเดิม และแน่นอนว่าต้องกระทบเด้งต่อมาที่ราคาข้าวสารและข้าวถุงในประเทศ เพราะเมื่อไม่นานมานี้สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทยแจ้งว่าเตรียมจะปรับราคาขายในเดือนหน้าให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ออกมาสกัดดาวรุ่ง ด้วยการสั่งการให้กรมการค้าภายในกำกับดูแลราคาข้าวสาร หรือง่ายๆ ก็คือคุมราคาให้กระทบผู้บริโภคน้อยที่สุด ทั้งยังยืนยันชัดเป๊ะว่ายังไม่มีการอนุญาตให้ขึ้นราคาข้าวถุงทุกยี่ห้อในช่วงนี้โดยเด็ดขาด และโรงสีก็ห้ามกักตุนข้าวด้วยเช่นกัน

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (18 ส.ค. 66) กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ก็ได้เรียกบรรดาผู้ประกอบการ สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย และสมาคมโรงสีข้าวไทยมาหารือถึงสถานการณ์ราคาข้าวถุงบ้านเราว่าตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง อีกอย่างที่สำคัญคือการขอความร่วมมือไม่ให้ปรับขึ้นราคาข้าวถุงในช่วงนี้ เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ซึ่งนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้บอกว่าผู้ประกอบการยินดีที่จะให้ความร่วมมือ แต่ยังต้องดูสถานการณ์ โดยเฉพาะต้นทุนข้าวว่าจะมีการปรับเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหนด้วย

นายยงยุทธ พฤกษ์มหาดำรง นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย กล่าวว่า ขณะนี้ต้นทุนข้าวสารเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะข้าวขาว แต่สมาคมฯ และสมาชิกจะตรึงราคาอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภค

ก่อนหน้านี้สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทยมีแผนที่จะปรับขึ้นราคาในเดือนหน้ า เพราะต้นทุนข้าวสารเจ้าเพิ่มขึ้นถึงกิโลกรัมละ 3 บาท จากเดิม 17 บาท ปรับเพิ่มเป็น 20–21 บาทต่อกิโลกรัม

ด้านสมาคมโรงสีข้าวไทย ยืนยันที่จะจัดส่งข้าวสารให้กับสมาชิกของสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ติดขัด เพื่อให้สามารถผลิตข้าวสารถุงออกสู่ตลาด และย้ำว่าจะไม่มีปัญหาข้าวสารขาดแคลนแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีความจำเป็น กรมการค้าภายในอาจจะร่วมมือกับ 2 สมาคมในการจัดทำข้าวถุงราคาถูกกว่าท้องตลาดออกมาจำหน่าย ผ่านช่องทางต่างๆ ที่มีอยู่ เช่น โมบายพาณิชย์ สถานที่ราชการ ห้างท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการซื้อข้าว แต่ก็เป็นเพียงมาตรการที่เตรียมเอาไว้เท่านั้น อาจจะไม่ต้องใช้ก็ได้

ส่วนราคาข้าวถุงในตลาดตอนนี้ พบว่าข้าวหอมมะลิถุง 5 กิโลกรัม (กก.) มีราคาเฉลี่ย 210 บาทต่อถุง เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 209 บาทต่อถุง ถือว่าราคายังทรงตัว ส่วนข้าวขาว 100% ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 117.94 บาทต่อถุง เทียบกับปีก่อนเฉลี่ย 119 บาทต่อถุง ถือว่าราคายังปกติและราคาข้าวถุงในห้างค้าส่งค้าปลีกก็ ยังไม่มีการปรับขึ้นราคา แถมยังมีการจัดโปรโมชันลดราคาต่อเนื่อง

ขณะที่ราคาข้าวเปลือก พบว่า เพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยข้าวเปลือกหอมมะลิอยู่ที่ 15,000–16,900 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกเจ้า 12,000–12,500 บาทต่อตัน

แต่ราคาข้าวสารตามร้านทั่วไปนั้นได้ปรับขึ้นไปแล้ว โดยพบว่าข้าวสารกระสอบตอนนี้อยู่ที่กระสอบละ 40–45 กิโลกรัม ราคาปรับเพิ่มขึ้น 80–90 บาท เช่น ข้าวหอมมะลิ จากกิโลกรัมละ 38 บาท ปรับขึ้นเป็น 40 บาท ข้าวเสาไห้ จากเดิมกระสอบละ 920 บาท เพิ่มเป็น 1,010 บาท ส่งผลถึงราคาขายปลีกข้าวเสาไห้ต้องปรับเพิ่มขึ้น โดยปรับจากกิโลกรัมละ 24 บาทเป็น 26–27 บาท

ขณะที่ราคาขายส่งข้าวในกรุงเทพฯ ตามการรายงานของสมาคมโรงสีข้าวไทย พบว่า ราคาข้าวหอมมะลิอยู่ที่ 2,950–3,100 บาทต่อกระสอบ 100 กิโลกรัม ข้าวหอมปทุมธานี 2,400–2,450 บาท ข้าวขาว 5% ราคาอยู่ที่ 1,950–2,050 บาท

ด้านผู้บริโภครายหนึ่งบอกว่าราคาข้าวแพงขึ้น ราคาข้าวขาวที่บริโภคอยู่ปรับขึ้น ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพให้เพิ่มขึ้น เพราะเดิมสินค้าอุปโภคบริโภคชนิดอื่นๆ เองก็มีราคาแพงอยู่แล้ว

นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า ราคาข้าวสารในจังหวัดศรีสะเกษได้ปรับราคาสูงขึ้น โดยเจ้าของร้านขายข้าวสารแห่งหนึ่งใน อ.เมืองศรีสะเกษ ยอมรับว่าข้าวสารเหนียวมีการขึ้นราคาจากเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา จากเดิมขายราคากระสอบละ 1,000 บาทต่อ 40 กิโลกรัม ปรับขึ้นเป็น 1,220 บาทในทุกวันนี้ และมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้อีก โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังจะมีประเพณีบุญข้าวสาก ซึ่งชาวพุทธภาคอีสานจำเป็นต้องใช้ข้าวเหนียวในการทำข้าวต้มมัดจำนวนมาก ก็ทำให้จะได้รับความเดือดร้อน หรืออาจซื้อข้าวในปริมาณที่ลดลง

เจ้าของร้านส้มตำนารี ในจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า แม้ข้าวมีราคาสูงขึ้น และส่งผลกระทบอย่างมาก แต่ยังคงขายราคาเดิม จากเดิมซื้อข้าวสารในราคา 1,100–1,200 บาทต่อกระสอบ แต่ตอนนี้ต้องซื้อในราคาที่ปรับขึ้นเป็น 1,400–1,500 บาท คาดว่าจะปรับราคาขึ้นอีกเรื่อยๆ

ขณะที่จังหวัดบุรีรัมย์ ราคาข้าวสารในช่วงนี้ปรับตัวตามราคาข้าวเปลือกที่สูงขึ้น เฉลี่ยประมาณกิโลกรัมละ 15–16.90 บาท หรือตันละ 15,300–16,900 บาท

อีกปัจจัยที่ต้องจับตานั่นก็คือต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะปุ๋ย ที่กรมการค้าภายบอกว่าราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง ปุ๋ยยูเรีย 46–0–0 ลดลง 49% บวกลบ ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต 21–0–0 ลดลง 50% แม่ปุ๋ยฟอสเฟต 18–46–0 ลดลง 39% และแม่ปุ๋ยโพแทสเซียม 0–0–60 ลด 42% โดยเฉลี่ยราคาปุ๋ยลดลงทุกกลุ่ม

ในมุมของผู้บริโภคแม้ตอนนี้จะยังไม่ต้องต้องจ่ายเงินซื้อข้าวถุงในห้างเพิ่มขึ้นก็จริง แต่อย่าลืมว่ายังมีสินค้าอีกหลายอย่างที่ยังคงแพงอยู่ หรือแม้แต่บางชนิดที่ขึ้นแล้วไม่ยอมลง จากที่ตอนขึ้นอ้างราคาต้นทุนน้ำมัน แก๊ส สารพัด แต่พอต้นทุนลด ราคาขายปลีกกลับไม่ลงตาม ส่วนร้านอาหารตามสั่งบางร้านที่ไม่ขึ้นราคา แต่อาจจำเป็นต้องลดปริมาณอาหารลงก็เป็นได้จากภาระต้นทุนอีกหลายอย่าง เพราะฉะนั้นนอกเหนือจากข้าว อย่าลืมว่าประชาชนยังมีภาระอื่นๆ ที่ต้องแบกหนักอึ้งอีกมากมาย ซึ่งสุดท้ายก็จะเชื่อมโยงไปยังภาระหนี้ ดอกเบี้ยสูง กระทบต่อเนื่องไปยังกำลังซื้อกำลังจ่ายของผู้บริโภค ยาวไปยังเศรษฐกิจโดยรวม

สุดท้ายอย่าลืมว่า “มาตรการตรึงราคาใช้ได้แค่ระยะหนึ่งเท่านั้น” ปัญหาจึงไม่ได้อยู่แค่ “ข้าวแพง” แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือรัฐบาลใหม่ป้ายแดงจะต้องเข้ามารื้อดูอย่างจริงจัง ตั้งแต่การบริหารจัดการน้ำให้มีพอทั้งกิน ใช้ ทำนา ทำไร่ ยั่งยืน ยิ่งตอนข้าวราคาดี จะได้ไม่เสียโอกาสกอบโกยส่งออกป้อนตลาดโลก ขณะเดียวกันคนในประเทศควรได้กินข้าวในราคาที่เป็นธรรม ส่วนชาวนาก็ควรได้ลืมตาอ้าปากยิ้มรับเงินเข้ากระเป๋าจากราคาข้าวดี มีผลผลิตขายสม่ำเสมอ ถึงจะสมศักดิ์ศรีประเทศที่เป็นผู้ผลิตข้าวจริงๆ… ว่าไหม?

BTimes