การเมืองไทยยังอึมครึม ฉุดการลงทุนไทยสวิง นักลงทุนส่อหาย เศรษฐกิจไทยเสี่ยงสะดุด ลุ้น กกต. รับรอง ส.ส. ปลดล็อกกระบวนการเลือกตั้ง คลายความกังวลภาคธุรกิจ

1277
0
Share:

การเมืองไทยยังอึมครึม ฉุดการ ลงทุน ไทยสวิง นักลงทุนส่อหาย เศรษฐกิจ ไทยเสี่ยงสะดุด ลุ้น กกต. รับรอง ส.ส. ปลดล็อกกระบวนการเลือกตั้ง คลายความกังวลภาคธุรกิจ - จัดตั้งรัฐบาล

เชื่อว่าหลายคนคงตามลุ้นการจัดตั้งรัฐบาล และไม่เพียงแค่ประชาชนที่ติดตามการตั้งรัฐบาล แต่ต่างชาติหรือนักลงทุนเองก็เช่นกัน สะท้อนจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยก็สวิง ขึ้นๆ ลงๆ มาตลอดทั้งสัปดาห์ ด้วยการเมืองก็ยังคงอึมครึม การจัดตั้งรัฐบาลก็ยังลูกผีลูกคน กกต. เองก็ยังไม่ได้มีการออกมาประกาศรับรอง ส.ส. สักที

แม้ว่า กกต. จะยังไม่การรับรอง ส.ส. ภายหลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง แต่เราก็จะได้เห็นบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลที่นำโดย พรรคก้าวไกลที่เคลื่อนไหว เดินสายพบปะเอกชน หารือการฟอร์มทีมการจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมพร้อมสานต่องานจากรัฐบาลชุดเก่าหรือที่ขณะนี้เรียกว่า รัฐบาลรักษาการ ซึ่งเป็นการสะท้อนบทบาทและแสดงตัวตนรัฐบาลใหม่ที่พร้อมจะเริ่มงานได้ทันที แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะดึงความเชื่อมั่นของบรรดานักลงทุน โดยเฉพาะต่างชาติได้มากพอนัก

ล่าสุด ตลาดทุนไทย ได้สะท้อนดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน เดือน พ.ค. 66 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 77.70 ปรับลดลง 26.8% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ซึ่งปัจจัยสำคัญคือนักลงทุนมองการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดก็ยังเป็น ปัญหาการเมืองหลังการเลือกตั้ง

ขณะเดียวกันเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีกระแสข่าวว่า ค่ายผลิตรถยนต์ กระบะยักษ์ใหญ่ อย่างอีซูซุ มอเตอร์ ส่อแววจะย้ายฐานการผลิตไปซบอกอินโดนีเซีย เพราะความไม่ชัดเจนสถานการณ์การเมืองในไทย ซึ่งหากมีการย้ายฐานการผลิตจริงผลกระทบที่ตามมาคงหนีไม่พ้นปัญหาตกงาน เพราะปัจจุบัน อีซูซุมีโรงงานผลิตรถยนต์ 2 แห่งในประเทศไทย ที่จังหวัดสมุทรปราการและฉะเชิงเทรา โดยมีกำลังการผลิตรถยนต์รวมกัน 385,000 คัน/ปี และมีการจ้างงานพนักงานราว 6,000 คนส่วนในอินโดนีเซีย อีซูซุมีโรงงานผลิตรถยนต์ 1 แห่งที่เมืองคาราวัง

แต่ไม่นานทางค่ายอีซูซุก็ได้ออกแถลงการณ์สยบข่าวลือ ปฏิเสธทันควันว่า ไม่ได้คิดจะย้ายฐานการผลิตแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าประเทศอินโดนีเซียจะเป็นตลาดที่สำคัญแห่งหนึ่งของอีซูซุก็ตาม

อีกด้านก็คือ ความคาดหวังของภาคเอกชน ที่ยังคงเป็นความหวังเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้เร็วที่สุด เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปแบบไม่สะดุดอย่างเช่น นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ก็บอกว่าเอกอัครราชทูตประเทศสำคัญที่มีการลงทุนและค้าขายในไทยก็มีความกังวลและได้โทรศัพท์ติดต่อมาพูดคุยสอบถามบางสถานทูต ซึ่งปกติจะไม่โทรมา แต่ขณะนี้ก็ได้โทรศัพท์มาหา รวมถึงนัดทานข้าวกับตนด้วยเช่นกัน ซึ่งในฐานะนักธุรกิจก็อยากเห็นการตั้งรัฐบาลให้ได้เร็วที่สุดและต้องเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงานและเรียกความเชื่อมั่น ก่อนการเลือกตั้งบรรยากาศในประเทศไทยถือว่าดี มีคนเข้ามาหาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มากมายจนรับไม่ไหว นักท่องเที่ยวก็เดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมากเช่นกัน เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวแต่มาเจอสถานการณ์ตอนนี้ทำให้สะดุด

ประธานสภาหอการค้า บอกว่าสิ่งที่ภาคเอกชนเป็นห่วงก็คือการทำงบประมาณเศรษฐกิจฐานศูนย์ หากงบประมาณออกมาไม่ทัน ซึ่งคาดว่าไม่ทันแน่ๆ การกระตุ้นเศรษฐกิจจะดำเนินการไม่ได้ โครงการต่างๆ จะชะงัก และจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน แทนที่จะฟื้นตัวก็จะชะลอตัว ทุกอย่างตัวแปรอยู่ที่คนไทยทั้งนั้น ภายนอกเราได้เปรียบคนอื่นอยู่แล้ว อย่าให้คนไทยสร้างประเด็นกันเองภายในประเทศ

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่าการท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้ ซึ่งหากการจัดตั้งรัฐบาลเกิดความล่าช้า มีการประท้วงและการเมืองขาดเสถียรภาพไม่เป็นไปตามไทม์ไลน์ในเดือน ส.ค. อาจทำให้ต่างชาติตัดสินใจไม่เข้ามาท่องเที่ยวในช่วงปลายปี กระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้น ทำให้จีดีพีปรับลดลงมาที่ 2.0-2.5% จากคาดขยายตัว 3.0-3.5% รวมทั้งยังมีผลกระทบระยะยาวคือต่างชาติเปลี่ยนใจไม่ลงทุนในไทย แต่หันไปหาคู่แข่งในภูมิภาคนี้แทน รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศต้องให้ความสำคัญในการดูแลนักท่องเที่ยวให้สะดวก ปลอดภัย สร้างแรงจูงใจดึงดูดให้เดินทางเข้าประเทศมากขึ้น โดยภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนเพื่อสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวต่อเนื่อง

โดยนายเกรียงไกร บอกว่าตอนนี้ไทยเป็นเป้าหมาย และเป็นที่จับตามองของนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลและการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองได้เร็วจะยิ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม

นายสยาม เตียวตรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือทีเคซี กล่าวถึงเรื่องความไม่ชัดเจนของการเมืองว่าในฐานะที่ทำธุรกิจ สิ่งที่ทำให้นักลงทุนขณะนี้มีความรู้สึกว่ายังไม่มีนโยบายที่ชัดเจน เพราะนักลงทุนยังไม่รู้ว่านโยบาย หรือแผนการลงทุนจากนี้จะเป็นอย่างไร สิ่งที่รัฐบาลใหม่จะตัดสินใจเดินหน้าเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้คือความเสี่ยง แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือประเทศไทยมีการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม และจากนั้นสามารถทำงานต่อได้ รวมถึงขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่นักลงทุนรอคอยมากที่สุด เพราะมีความชัดเจนในระดับหนึ่งแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนผ่านกับขั้วรัฐบาล ซึ่งไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด รัฐบาลใหม่จะสร้างประโยชน์ให้แก่อุตสาหกรรมนี้ได้ เพราะทุกพรรคการเมืองมีความตั้งใจจะผลักดันดิจิทัลเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับประกอบธุรกิจให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

ในมิติของด้านแรงงาน ซึ่งถือเป็นสัดส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่แพ้กัน ก็มีความคิดความเห็จากทางสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่ค่อนข้างไม่พอใจกับนโยบายด้านแรงงานของพรรคก้าวไกล ออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงตรงกันข้ามว่าอาจจะผลักไสให้แรงงานเพื่อนบ้านกลับประเทศไป ซึ่งจะทำให้ไทยเจองานใหญ่ถึงขั้นขาดแคลนแรงงานพื้นฐานก็เป็นได้ แต่ทางด้านพรรคก้าวไกลก็ออกมาชี้แจงชัดเจนว่านโยบายที่เตรียมจะดำเนินการนี้ ไม่ใช่การผลักดันแรงงานต่างด้าวแน่นอน

ด้านนายเคิร์ท แคมป์เบลล์ ผู้ประสานงานอินโด-แปซิฟิกของทำเนียบขาว ยังออกมาระบุว่า “สหรัฐจับตาการเลือกตั้งในประเทศไทยอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด และเรามองว่าไทยกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง โดยเฉพาะในช่วงของการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ผมยืนยันว่าเป้าหมายของสหรัฐคือการสนับสนุนรัฐบาลประชาธิปไตยทีมีประสิทธิภาพ และเสถียรภาพในประเทศไทย และเราจะร่วมงานกับรัฐบาลไทยนับจากนี้” เป็นเวิร์ดดิ้งที่อาจจะทำให้หลายคนใจฟูว่าประเทศมหาอำนาจพร้อมเชียร์ไทยถ้าการเมืองมาจากระบอบประชาธิปไตยร้อยเปอร์เซ็นต์

ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคก้าวไกล พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งได้ที่นั่งมากเป็นอันดับหนึ่ง ยังเป็นที่จับตาจากสังคมรวมถึงประชาชนที่ตั้งใจเลือก นายพิธา เข้ามาและ หวังจะมาเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่กลับยังมีประเด็นที่เป็นที่เคือบแคลงใจ โดยเฉพาะปมหุ้นไอทีวี ที่มีผลต่อคุณสมบัติการเป็น ส.ส. ไหนจะเรื่องกระแสรัฐบาลส้มหล่น ที่ทำให้บั่นทอนความเชื่อมั่นไปยังประชาชน หรือแม้แต่นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ซึ่งก็แน่นอนว่าจะพาลกระทบไปยังการตัดสินใจจะลงหลักปักฐาน ทุ่มเม็ดเงินลงทุนที่ไทย หรือแม้แต่การลงทุนในตลาดหุ้นไทยก็ตาม เหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลไปยังเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

คำถามที่คาใจคงหนีไม่พ้น อะไรที่จะสร้างความเชื่อมั่นได้บ้าง สูตรการจัดตั้งรัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หาก ส.ส.บางคนไม่ได้รับการรับรอง เพราะเลือกตั้งมาสองอาทิตย์แล้วยังไม่ชัดเจนอีกหรือ นั่นคือคำถามที่แม้แต่ประชาชนเองก็คงจะมีคำถามนี้ในใจ แต่ถ้าเป็นนักลงทุน นั่นอาจสะท้อนได้ถึงความเชื่อมั่นของพวกเขา ว่าจะยังไปต่อกับประเทศไทยแลนด์แดนอึมครึม หรือจะตัดใจไปซบประเทศอื่นซะดีกว่า อันนี้นี่แหละ ที่ทุกฝ่ายเริ่มคิดหนัก

แน่นอนว่าหลายคนก็หวังว่า ว่าที่รัฐบาลใหม่ จะผ่านพ้นด่านปราการสำคัญไปให้ได้ และจัดตั้งรัฐบาลให้ได้เร็วที่สุด เพื่อปลดล็อกความมั่นใจให้กับนักลงทุน ดึงเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ในทันที…

BTimes