ธุรกิจจิ๋วสถานการณ์ไม่สู้ดี ส่อแววเข้าหนี้เสีย เริ่มค้างค่างวดบ่อยขึ้น แต่ยังอยู่ท้ายแถวรับอานิสงส์เศรษฐกิจฟื้นตัว

1234
0
Share:

ธุรกิจจิ๋ว เอาเอ็มอี สถานการณ์ไม่สู้ดี ส่อแววเข้า หนี้เสีย เริ่มค้างค่างวดบ่อยขึ้น แต่ยังอยู่ท้ายแถวรับอานิสงส์เศรษฐกิจฟื้นตัว
สถานการณ์ปัจจุบันเชื่อว่าหลายๆ คนจะระมัดระวังการใช้จ่าย ด้วยหนี้สิน ค่าครองชีพที่สูง ราคาข้าวของหลายอย่างขึ้นแบบไม่ลง ทุกวันนี้หลายครอบครัวจึงต้องตกอยู่ในภาวะรัดเข็มขัด จะซื้ออะไรอาจต้องคิดแล้วคิดอีก ของบางอย่างอาจจะขายได้น้อยลง หรือบางอย่างอาจจะขายไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ผลกระทบต่อห่วงโซ่ธุรกิจรายใหญ่อาจไม่เป็นไรมาก แต่ยิ่งเป็นผู้ประกอบการรายเล็กๆ ถ้ารายได้ไม่เข้า หรือน้อยลง ก็อาจจะกระทบไปยังสภาพคล่อง การชำระหนี้ต่างๆ ของกิจการ

แม้ว่าจะผ่านช่วงอาฟเตอร์ช็อกหลังโควิดมาได้สักพักแล้ว แต่ธุรกิจในรายเล็กมากๆ อย่างกลุ่ม Micro SME และกลุ่ม Super Micro ที่สายป่านอาจจะน้อยกว่ารายใหญ่ๆ ถ้าสภาพคล่องขาด รายได้ช็อต ก็จะถึงขั้นไปต่อไม่ไหว แม้ตอนนี้ดูเหมือนเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นแล้ว แต่รายจิ๋วคงต้องใช้เวลานานมากกว่าถ้าจะกลับมาฟื้นได้เหมือนเดิม

เมื่อไม่นานมานี้ธุรกิจรายเล็กยังคงมีข่าวปิดกิจการกันให้เห็นอยู่ ยกตัวอย่าง เช่น โรงงานผลิตแม่พิมพ์ทุนกิจการ 10 ล้านบาท ซึ่งโรงงานตั้งอยู่ใน อ.บ้านบึง จังหวัดชลบุรี ที่ไปไม่รอดปิดกิจการไปแล้วเมื่อสิ้นเดือนที่ผ่านมา (30 พ.ย.) จากการรายงานของเฟซบุ๊กข่าวสารชลบุรี-ระยอง ที่ได้โพสต์ข้อความและภาพเกี่ยวกับโรงงานผลิตแม่พิมพ์หยุดกิจการถาวร ระบุว่า บริษัท ทีเอ็มที โมลด์ เทคโนโลยี จํากัด ประกอบกิจการโรงงานผลิตและรับจ้างผลิตแม่พิมพ์ รับซ่อมแม่พิมพ์และอุปกรณ์ชิ้นส่วนแม่พิมพ์ทุกประเภท ได้ประกาศแจ้งปิดกิจการ

โดยแจ้งสาเหตุว่า บริษัทไม่สามารถหาออร์เดอร์ในการผลิตแต่ละเดือนได้ จึงทำให้พนักงานไม่มีงานทำ และบริษัทไม่มีรายได้ จึงทำให้ไม่สามารถทำให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ ทางโรงงานจึงขอประกาศหยุดกิจการ เริ่มวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป ส่วนค่าชดเชยจะชี้แจงให้พนักงงานแต่ละคนทราบหลังวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566

ยังมีอีกหลายรายที่เจ๊ง ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุด้านสภาพคล่อง ปรับตัวไม่ทันกับยุคออนไลน์ การทำการตลาด หรือมีอีกหลายปัจจัยประกอบกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เปิดเผยข้อมูลวิเคราะห์บัญชีลูกหนี้ธุรกิจของบริษัท จากข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) ที่พบว่า การฟื้นตัวของธุรกิจขนาดจิ๋ว หรือกลุ่ม Micro ซึ่งมียอดสินเชื่อคงค้างระหว่าง 5–20 ล้านบาท และกลุ่ม Super Micro ซึ่งมียอดสินเชื่อคงค้างไม่เกิน 5 ล้านบาท ยังคงไม่ต่อเนื่อง ส่งผลกระทบมายังความสามารถในการชำระหนี้ สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ค้างชำระที่ยังคงมีทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งในมิติของกลุ่มที่เป็นหนี้เสียและในมิติของกลุ่มที่ใกล้จะเป็นหนี้เสีย ค้างชำระระหว่าง 61–90 วัน

ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ยังบอกอีกว่า “หนี้ของธุรกิจขนาดจิ๋ว” ส่วนใหญ่เป็นหนี้จากสินเชื่อระยะยาว ทั้งที่เป็นสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจและสินเชื่อทั่วไป รวมถึงสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์ สะท้อนว่าธุรกิจขนาดจิ๋วไม่สามารถสร้างรายได้เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ ถึงแสงชัย ธีรกุลวาณิช จะมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 แต่ก็จะทยอยสิ้นสุดลง

และที่น่าเป็นห่วงนั่นก็คือ บริษัทขนาดจิ๋วในธุรกิจต้องพึ่งพากำลังซื้อในประเทศ ยังคงเป็นกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ โดยเฉพาะใน 4 ธุรกิจ ซึ่งก็คือ ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า อุตสาหกรรมการผลิต ขายส่งและขายปลีก และการซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์

ส่วนธุรกิจขนาดจิ๋วในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อย่างที่พักแรมและร้านอาหาร จะมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากกว่า เพราะได้รับอานิสงส์จากการทยอยฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในภาพใหญ่ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นยังคงตอกย้ำว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคธุรกิจต่างๆ ยังคงไม่เท่าทันกัน

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และคณะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยังได้เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับเสนอมาตรการที่เป็นเรื่องเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาเอสเอ็มอีไทยด้วย โดยหลักๆ ก็คือมาตรการแก้ปัญหาต้นทุนและค่าครองชีพ การเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำเอสเอ็มอี และ “ปัญหาหนี้เสีย”

ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นระดับผู้ประกอบการรายเล็กหรือรายใหญ่ ไปจนถึงครัวเรือน ต่างก็เจอปัญหาเดียวกัน นั่นก็คือ “หนี้” ที่จะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังได้ประเมิน สัดส่วนหนี้ธุรกิจด้อยคุณภาพในระบบธนาคารพาณิชย์ด้วยว่าจะชะลอลงมาปิดสิ้นปี 2566 ที่กรอบประมาณร้อยละ 2.62-2.65 ของสินเชื่อธุรกิจในภาพรวม ชะลอลงจากร้อยละ 2.77 ณ สิ้นปี 2565

แต่ในส่วนของธุรกิจรายจิ๋วยังน่าห่วง จากตัวเลขข้างต้น โดยยังต้องติดตามเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจขนาดขนาดเล็กเหล่านี้ เพราะถือเป็นกลุ่มสุ่มเสี่ยงที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหันกลับมามอง และหาเครื่องมือมาช่วยต่อลมหายใจให้กับธุรกิจรายจิ๋วที่ยังอยู่ท้ายแถวจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ ก่อนที่ล้มหายตายจากและกลายเป็นกลุ่มก่อหนี้เสียเพิ่มขึ้นให้กับระบบอีกกลุ่มหนึ่งในอนาคต…

BTimes