เมื่อราชบัณฑิตยสภาบัญญัติศัพท์ใหม่ให้ Metaverse แล้วเหตุไฉนทำไม Metaverse ถึงแปลเป็นไทยได้ว่า ‘จักรวาลนฤมิต’

1024
0
Share:

เมื่อราชบัณฑิตยสภาบัญญัติศัพท์ใหม่ให้ Metaverse แล้วเหตุไฉนทำไม Metaverse ถึงแปลเป็นไทยได้ว่า ‘จักรวาลนฤมิต’
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์พิเทศศาสตร์ร่วมสมัย สำนักงานราชบัณฑิตยสภา มีมติบัญญัติศัพท์ใหม่ โดยให้ความหมายของ ‘Metaverse’ เป็นภาษาไทยว่า ‘จักรวาลนฤมิต’ ที่เขียนทับศัพท์ภาษาไทยได้ว่า ‘เมตาเวิร์ส’ ภายหลังจากประกาศออกไป คนไทยเสียงแตกเกิดกระแสในโลกโซเชียลหนักมาก บางคนงง บางคนไม่พอใจ บางคนตลก เพราะคิดเห็นเหมือนกันว่าคำศัพท์นี้ยากเกินไปหรือไม่ ถึงขั้นทวงถามว่าคำแปลว่าที่แท้จริงของ ‘จักรวาลนฤมิต’ คืออะไร แต่เมื่อค้นหาลึกลงไปจะพบว่าราชบัณฑิตยสภาได้ให้ความหมายอย่างตรงตัวไว้ว่า จักรวาลนฤมิตรคือจักรวาลหรืออาณาบริเวณที่ถูกเปลี่ยนแปลงหรือสร้างขึ้นมาใหม่ ใหญ่โตกว้างขวางที่สุดเท่าที่มนุษย์รู้จัก และใหญ่โตจนกำหนดขอบเขตไม่ได้นั่นเอง

แล้ว Metaverse คืออะไร ทำไมช่วงนี้ถึงได้ฮอตฮิตนัก

ย้อนกลับไปในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊ก เริ่มพูดถึงเกี่ยวกับ Metaverse และได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Facebook เป็น Meta แทน ส่งผลให้ตั้งแต่นั้นมาคนทั่วโลกก็ให้ความสนใจและพูดถึง Metaverse อย่างหนาหู ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

ส่วนรากศัพท์จริงๆ ของ Metaverse ถ้าแปลตรงตัวจะหมายถึงโลกที่พ้นขอบเขตไปแล้ว หรือจักรวาลที่พ้นขอบเขตแบบไม่มีที่สิ้นสุด เปรียบง่ายๆ ก็เหมือนกับการที่เราสามารถใช้งานและทำกิจกรรมผ่านทางโลกอินเทอร์เน็ตไปพร้อมกับผู้อื่น หรืออธิบายลึกไปอีกก็คือการใช้ชีวิตคล้ายกับอยู่บนโลกความเป็นจริง โดยการใช้ความเป็นจริงเสมือน(VR) หรือเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง(AR) สามารถมองเห็นเป็นภาพสามมิติ คือได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้สัมผัส ตอบโต้และรับรู้ได้ ผ่านทางอินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างความรู้สึกของการมีอยู่เสมือนจริง

ก่อนหน้านี้ Metaverse จะถูกใช้ในวงการเกมออนไลน์มากกว่า แต่ช่วงหลังมานี้หลายบริษัทเริ่มมีการปรับตัวกระโจนเข้าไปลงทุนในเรื่องของเทคโนโลยี เพื่อสร้างแพลตฟอร์มที่สามารถรองรับเทคโนโลยี Metaverse ในอนาคตได้ เห็นได้ชัดเจนกับแพลตฟอร์ม Facebook ที่ทำการรีแบรนด์ครั้งใหญ่เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta ประกาศชัดว่าพร้อมเข้าสู่โลกเสมือนจริง และสร้างภาพจำใหม่ว่าอาณาจักรของเขาไม่ได้มีแค่ Facebook เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีธุรกิจอื่นๆ อีกจำนวนมาก ที่สำคัญการเลือกใช้ชื่อ Meta ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ และทิศทางธุรกิจที่กำลังจะมุ่งไปอย่างชัดเจน

ทางด้านวอลต์ ดิสนีย์ (Walt Disney) ก็เป็นอีกหนึ่งรายที่ประกาศตัวว่าจะก้าวเข้าสู่โลกของ Metaverse ในอนาคต ซึ่งอาจนำไปสู่ ‘คอนเทนต์สามมิติ’ หรือการเล่าเรื่องในรูปแบบใหม่ๆ ต่อไป

ทางฝั่งไทยก็ไม่น้อยหน้าเพราะ AIS ได้นำเทรนด์ Metaverse ในประเทศ เปิดตัว Metaverse Human น้องไอรีน Virtual Influencer คนแรกของไทยเข้าสู่ AIS Family บุกตลาดนำร่องสร้างคอมมูนิตี้โลกเสมือนจริง

ตัวอย่างอุตสาหกรรมข้างต้นเป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ ที่ทางทีมงาน BTimes หยิบยกขึ้นมานำเสนอให้เห็นถึงความก้าวหน้าของธุรกิจที่ดึงเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนบริษัท แน่นอนว่าความร้อนแรงของกระแส Metaverse หรือโลกเสมือนจริงจะยังอยู่ไปอีกนาน ทั้งกำลังจะกลายเป็นเทรนด์ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากกับโลกในเวลาอันใกล้นี้ เพราะยุคนี้เป็นยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปและถูกปรับให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนตั้งแต่ตื่นยันนอน เราอาจจะไม่ต้องทันทุกเทรนด์หรือทุกเหตุการณ์ แต่เชื่อเถอะว่าในวันข้างหน้า สถานการณ์ในอนาคตจะบีบเราให้ต้องทันทุกเทคโนโลยี

ท้ายนี้ สำหรับคำว่า ‘จักรวาลนฤมิต’ ทางราชบัณฑิตยสภาไม่ได้บังคับใช้ ทุกคนสามารถเขียนเป็นคำทับศัพท์ว่า ‘เมตาเวิร์ส’ ได้ไม่ผิดเช่นกันค่ะ

BTimes