ถามกันเยอะ อยากรู้กันมากว่าทำไมแชทจีพีทีกลายเป็นอนาคตจริง เมตาเวิร์สกำลังถูกโลกลืมใช่หรือไม่ จริงป่าว!?

503
0
Share:

ถามกันเยอะ อยากรู้กันมากว่าทำไมแชทจีพีที ChatGPT กลายเป็นอนาคตจริง เมตาเวิร์ส Metaverse กำลังถูกโลกลืมใช่หรือไม่ จริงป่าว!?

ยังดุเดือดแบบไม่แผ่วกับศึกแข่งขันเอไอ แชทบอท (AI Chatbot) ของบริษัทบิ๊กเทคทั่วโลก ขนาดล่าสุดไมโครซอฟท์ก็ได้ตัดหน้าทุกราย เปิดตัวไมโครซอฟท์ ทีมส์ (Microsoft Teams) ที่มาพร้อมฟีเจอร์แชทจีพีที ช่วยจดรายงานการประชุมได้แบบแยกคน ด้านกูเกิล ไม่ยอมแพ้ ประกาศเปิดตัวเอไอ แชทบอท ในชื่อ “Bard” ที่เจ้าตัวมั่นใจว่าความสามารถไม่แพ้แชทจีพีที

ส่วนเสิร์ชเอนจินเบอร์ 1 จากค่ายจีนอย่าง ไป่ตู้ (Baidu) ไม่ยอมแพ้ฝั่งสหรัฐฯ ประกาศเตรียมเปิดตัวไอเอ แชทบอทถึง 2 ภาษา คือ ERNIE Bot ในเวอร์ชันภาษาอังกฤษ และ Wenxin Yiyan สำหรับภาษาจีน

แต่อีกหนึ่งบริษัทเทคยักษ์ระดับโลกเจ้าของแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก (Facebook) อย่างเมตา Meta กลับไม่สนใจเข้ามาแข่งขันในตลาดเอไอ แชทบอท แถมหัวหน้าฝ่ายเอไอยังออกมาบอกว่าเทคโนโลยีนี้ไม่ได้เปลี่ยนโลก

ออกมาพูดถึงขนาดนี้แล้ว แสดงว่าเจ้าตัวยังมุ่งมั่นกับการพัฒนาเมตาเวิร์สต่อไป

หากมาดูกระแสเมตาเวิร์สหลังจากเป็นกระแสมา 1 ปีกว่าๆ จะพบว่ายังไม่มีแพลตฟอร์มไหนที่เปิดตัวออกมาให้คนใช้ในวงกว้างหรือมีผู้เข้าใช้ระดับร้อยล้านคน แม้แต่ไมโครซอฟท์ยังประกาศเลิกจ้างทีมพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับโครงการวีอาร์ (VR) และปิดแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียวีอาร์อย่าง AltspaceVR

สรุปแล้วเมตาเวิร์สหมดความน่าสนใจแล้ว? บิ๊กเทคจึงย้ายไปรุมพัฒนาเอไอ แชทบอทแทน เพราะเป็นอนาคตของธุรกิจ? ลองมาวิเคราะห์จากเหตุผลต่างๆ กัน

จุดเด่น-จุดด้อย ระหว่าง “แชทจีพีที” กับ “เมตาเวิร์ส” ในแง่บริษัทที่ให้บริการ

สำหรับ “แชทจีพีที” หากมองถึงจุดเด่น ที่ทำให้หลายบริษัทเข้ามาเล่นในตลาดนี้และพร้อมจะเปิดตัวได้ในเร็ววัน ส่วนหนึ่งเพราะทุกบริษัทต่างมีคลังข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เป็นพื้นฐานในการพัฒนาเอไอ แชทบอท ซึ่งทั้ง 3 บริษัทที่ลงมาเล่นในตลาดนี้ล้วนเป็นผู้ให้บริการด้านเสิร์ชเอนจิน มีความรู้ความเข้าใจด้านการให้บริการข้อมูลเป็นพื้นฐาน เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนจากให้คนค้นหาเอง เป็นเอไอตอบคำถามให้เสร็จสรรพ จึงไม่ยากเย็นเท่ากับการพัฒนาเมตาเวิร์สที่ต้องเริ่มใหม่จากศูนย์ และอีกจุดเด่นหนึ่งก็คือ เมื่อมีผู้เล่นลงมาในตลาดมาก ก็จะเกิดการแข่งขันทั้งคุณภาพและราคาที่ผู้ใช้ได้ประโยชน์

ส่วนจุดด้อยของแชทจีพีที นั้นในช่วงแรกคงต้องยอมรับว่า ความถูกต้องของข้อมูลยังเป็นอุปสรรคกับการนำไปใช้ เพราะเอไอใช้การดึงข้อมูลจากโลกอินเทอร์เน็ตซึ่งบางครั้งจะพบกับข้อมูลที่ทั้งถูกต้องและไม่ถูกต้องปะปนกันไป

มาดูของจริงกับปัญหาตรงนี้ที่เกิดขึ้นกับบริษัทแม่ของกูเกิลเมื่อ 2-3 วันก่อนนี้ จนทำให้ราคาหุ้นดำดิ่งกว่า 9% ในวันเดียวแถมเสียหายพุ่งกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3.4 ล้านบาท ประมาณว่าปีงบประมาณ 1 ปีของประเทศไทยหายไปภายใน 1 วัน ก็ในเมื่อกูเกิลโพสต์โฆษณาลงในสื่อของทวิตเตอร์ เพื่อโฆษณาบาร์ด (Bard) เป็นแชทจีพีทีในการถามบาร์ดเกี่ยวกับข้อมูลเรื่องของ James Webb Space Telescope ซึ่งในโฆษณามีคนสนใจคนหนึ่งถามว่า เจมส์ เว็ป สเปซ เทเลสโคป ค้นพบอะไรอะไรใหม่บ้าง จะสามารถบอกเล่าให้ลูกอายุ 9 ขวบได้บ้าง?

บาร์ดตอบกลับมาพร้อมคำตอบมากมาย แต่กลับกลายเป็นว่ามีคำตอบหนึ่งที่ตอบว่า มันถูกใช้ในการถ่ายภาพดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเป็นครั้งแรก คำตอบนี้เองที่เป็นคำตอบที่ผิด จากการอ้างอิงข้อมูลของนาซ่า (NASA) พบคำตอบที่ถูกต้องอย่างแท้จริงว่า ภาพดังกล่าวถูกถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์ Very Large Telescope (VLT) ของหอดูดาวยุโรปในปี 2004 จุดนี้แหละที่กลายเป็นจุดด้อยของระบบแชทจีพีทีที่ยี่ห้อบาร์ดของกูเกิลเสียชื่อในวันแรกทันที

สำหรับ “เมตาเวิร์ส” จุดเด่นสำคัญคือ เฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้ราว 3,000 ล้านคนในปัจจุบัน หมายความว่าหากเมตา (META) พัฒนาเมตาเวิร์สได้สำเร็จจะสามารถดึงดูดผู้ใช้เข้าสู่โลกเมตาเวิร์สได้อย่างไม่ยากเย็น ด้านเทคโนโลยี มีอัลกอริทึมที่เรียนรู้ความชอบของผู้ใช้ และยังมีเอไอ แชทบอท ต้นแบบชื่อ BlenderBot 3 ที่เคลมว่าตอบโต้ได้เหมือนคน ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนไปใช้ในโลกเมตาเวิร์สได้ไม่ยาก

ส่วนจุดด้อยของเมตาเวิร์สคือ ยังไม่มีความชัดเจนของทิศทางการพัฒนาจากเมตา ถึงแม้จะเปิดตัว Horizon Worlds มาตั้งแต่ปลายปีที่ 2021 หลังจากนั้นกลับไม่มีข่าวใหญ่นี่น่าตื่นเต้นออกมาอีกเลย

การตื่นตัวของคนระหว่าง “แชทจีพีที” กับ “เมตาเวิร์ส”

หากเปรียบเทียบกระแสการเปิดตัวของ 2 แพลตฟอร์มนี้ สำหรับ “แชทจีพีที” มันเป็นกระแสที่มาพร้อมกับการถล่มเข้าไปเรียนรู้การใช้งานทั้งเอาไปช่วยหาข้อมูลทำงาน และหาข้อมูลด้านการศึกษา จนมีผู้ใช้ครบ 100 ล้านบัญชี หลังจากเปิดตัวเพียง 2 เดือน

นอกจากนี้ ด้านธุรกิจไทย หลายองค์กรตื่นตัวกับการนำเอไอไปใช้กับองค์กรมากขึ้น โดยหลักแล้วจะเอามาช่วยทำงานแทนคน เช่น การตอบอีเมล ตอบปัญหาลูกค้า ไปจนถึงงานยาก เช่น ให้แชทจีพีที ช่วยวิเคราะห์ข้อมูล หรือแนะนำแนวคิดทางธุรกิจให้นักการตลาดได้เลือกใช้

ขณะที่ “เมตาเวิร์ส” นั้นถึงแม้จะถูกมองว่าเป็นเทคโนโลยีโลกอนาคต แต่เมื่อยังไม่มีใครที่ทำออกมาได้สมบูรณ์แบบให้คนทั่วโลกให้ลองเข้าไปเล่นพร้อมกัน มีแต่การคาดการณ์และจินตนาการสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงอุปกรณ์อย่างแว่นวีอาร์ (VR Glasses) ยังต้องการการพัฒนาอีกมาก ทำให้กระแสความน่าสนใจลดลงไปเรื่อยๆ ทั้งจากคนทั่วไปและด้านธุรกิจ

การสร้างรายได้

ทางฝั่ง “แชทจีพีที” ค่อนข้างชัดเจนในด้านการสร้างรายได้ คาดว่าทุกค่ายจะมุ่งไปที่การให้บริการแบบสมัครสมาชิกรายเดือนหรือรายปี (Subscription) โดยบริษัทแรกที่นำหน้าไปก่อนแล้วคือไมโครซอฟท์ ที่เปิดตัว ไมโครซอฟท์ ทีมส์ พรีเมียม พร้อมฟีเจอร์แชทจีพีที ในราคาเดือนละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ

ด้านฝั่ง “เมตาเวิร์ส” แนวโน้มการให้บริการจะเป็นลักษณะการซื้อภายในแอปฯ “In-app purchase” คือผู้ใช้จะได้เล่นฟรี แต่สามารถซื้อสินค้าหรือบริการเพิ่มเติมได้ เช่น ซื้อเครื่องแต่งกายให้ตัวละครในเมตาเวิร์ส หรือเก็บค่าธรรมเนียม (GP) จากร้านค้าที่เข้ามาใช้พื้นที่ของเมตาเวิร์สขายสินค้าหรือบริการ ทั้งนี้คงต้องรอแพลตฟอร์มพัฒนาได้ 100% ถึงจะเห็นช่องทางทำเงินจากแพลตฟอร์มนี้

จากบทสรุปทั้ง 3 ด้านนี้ คงต้องมาดูกันว่าแชทจีพีที จะกลายเป็นคลื่นลูกใหญ่ของวงการเทคโนโลยีในระยะยาว สร้างรายได้ให้กับบริษัทที่ทุ่มงบลงทุนได้เป็นกอบเป็นกำหรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วเมตาเวิร์สจะสร้างเซอร์ไพรส์พลิกกลับมาดึงความสนใจคนทั่วโลกอีกครั้ง ไม่ปีนี้ก็ปีหน้าคงได้รู้กัน

BTimes