กนง.มีมติเอกฉันท์ให้ “คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี”

364
0
Share:

กนง.มีมติเอกฉันท์ให้ “คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี” คาดเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดที่ดีขึ้นและการกระจายวัคซีนโควิดที่ทั่วถึง
.
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ครั้งที่ 6/2564 ในวันที่ 29 กันยายน 2564 ได้มีมติเอกฉันท์ให้ “คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ต่อปี” โดยประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้และปีหน้ายังคงเติบโตตามคาดไว้ 0.7% และ 3.9% ตามลำดับ คณะกรรมการฯ ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 และปี 2565 จะขยายตัวใกล้เคียงกับที่คาดไว้ แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยคาดว่าจะได้รับผลบวกจากการกระจายวัคซีนที่ปรับดีขึ้นและการผ่อนคลายมาตรการ
.
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง และภาครัฐควรเร่งมีมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้านมาตรการด้านการเงินยังต้องเร่งผลักดันการกระจายสภาพคล่องและปรับโครงสร้างหนี้ของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่าจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ย จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้
.
โดยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 0.7 และ 3.9 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ ใกล้เคียงกับประมาณการ ณ เดือนสิงหาคม ซึ่งถึงแม้ในไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมและการส่งออกที่ชะลอลง แต่ด้านวัคซีนมีความชัดเจนและการผ่อนคลายมาตรการที่เร็วกว่าคาด จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปี
.
เศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นสำคัญ ความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทยอยฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และการส่งออกจะยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ ด้านตลาดแรงงานมีแนวโน้มปรับดีขึ้น จากภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพที่ฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ยังไม่เข้มแข็ง ซึ่งแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
.
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยยังต้องติดตามแนวโน้มการระบาดและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ความเชื่อมั่นของภาคเอกชน รวมถึงแรงสนับสนุนจากมาตรการของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป และสภาพคล่องยังอยู่ในระดับสูง โดยการกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือน และมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่ช่วยธุรกิจ SMEs ทำให้เข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นจากช่วงก่อนหน้าจากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง