การบินไทยปรับลดวันลาพักร้อน-จ่ายโอที ก่อนแปรสภาพจากรัฐวิสาหกิจเป็นเอกชน

899
0
Share:

รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า บริษัทได้แก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานใหม่ เพื่อบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 64 เพื่อเตรียมแปรสภาพจากรัฐวิสาหกิจเป็นเอกชน ทำให้บริษัทและพนักงานอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ปี 41 แทน พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ปี 43
.
โดยตามระเบียบใหม่ กำหนดจำนวนวันหยุดพักผ่อนประจำปี ตามอายุการทำงาน ดังนี้
.
1. อายุงานตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ปรับลดจาก 24 วัน เหลือ 15 วัน
2.อายุงานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 20 ปี ปรับลดจาก 21 วัน เหลือ 10 วัน
3.อายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 10 ปี ปรับลดจาก 18 วันเหลือ 8 วัน
4. อายุงานตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 5 ปี ปรับลดจาก 12 วัน เหลือ 6 วัน
.
จากเดิมมีข้อยกเว้นสำหรับผู้บริหารระดับ VP, MD ลาหยุดพักผ่อน 28 วันทำการ โดยไม่ต้องพิจารณาจากอายุงาน แต่ระเบียบใหม่ใช้กับพนักงานทุกระดับ
.
นอกจากนี้ได้กำหนดอัตราค่าล่วงเวลา หรือ โอที โดยจะเปลี่ยนมาคำนวณจากอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง ที่คำนวณจากอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง หารด้วย 240 (จำนวนชั่วโมงการทำงานในแต่ละวัน 8 ชั่วโมง คูณ ด้วยจำนวนวันใน 1 เดือน) จากเดิมที่คำนวณจาก อัตราเงินเดือนค่าจ้าง/ชั่วโมง หารด้วย 170 ส่งผลให้อัตราค่าโอทีที่ปรับใหม่ลดลงจากเดิม 50%
.
ทั้งนี้ได้แบ่งประเภทของการจ่ายค่าล่วงเวลา ดังนี้
.
1.ค่าล่วงเวลาในวันทำการปกติ จ่าย 1.5 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง
.
2.ค่าทำงานวันหยุด จ่าย เพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีก 1 เท่าของอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง จากเดิมจ่าย 2 เท่าของอัตราเงินเดือนค่าจ้างต่อชั่วโมง
.
3.ค่าทำงานล่วงเวลาวันหยุด จ่ายอัตรา 3 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง จากเดิมจ่ายไม่น้อยกว่า 3 เท่า ของอัตราเงินเดือนค่าจ้างต่อชั่วโมง
.
ส่วนการเกษียณอายุของพนักงานให้มีผลเมื่อพนักงานมีอายุครบ 60 ปี โดยปรับเปลี่ยนให้มีผลวันเกษียณ เป็นวันแรกของเดือนถัดจากเดือนที่พนักงานมีอายุครบ 60ปี จากเดิม ให้มีผลวันที่ 30 ก.ย.ของทุกปี