กำไร 9 แบงก์รวมทะลุกว่า 226,000 ล้านบาท แบงก์ร่ายเหตุคิดดอกเบี้ยรายย่อยแพงกว่าธุรกิจ

115
0
Share:
กำไร ธนาคาร 9 แบงก์รวมทะลุกว่า 226,000 ล้านบาท แบงก์ร่ายเหตุคิดดอกเบี้ยรายย่อยแพงกว่าธุรกิจ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความจำเป็นต้องสร้างกำไรสะสมทุกปี เนื่องจากต้องเตรียมไว้เพื่อจ่ายคืนกรณีที่ธนาคารเกิดภาวะหนี้เสียจำนวนมาก ประเด็นนี้ คือสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์กลัว เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดภาวะเบี้ยวหนี้ กำไรที่เก็บมา 4-5 ปีคือกลายเป็นศูนย์

ด้านรศ.ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ หัวหน้าฝ่ายบริหารความเสี่ยงและโครงสร้างองค์กร ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์มีการปล่อยสินเชื่อจะมีทั้งบุคคลที่เสี่ยงน้อย และบุคคลคนที่เสี่ยงมาก ปกติแล้ว ธนาคารไม่สามารถคำนวณอัตราดอกเบี้ยจากการพิจารณาผู้ยื่นขอประเภทรายบุคคล ในลักษณะแบบเดียวกันกับการประเมินสินเชื่อเงินกู้ให้กับผู้ขอกู้ที่อยู่ในสถานะบริษัท หรือนิติบุคคลได้ ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องคำนวณดอกเบี้ยเงินกู้ค่ากลาง หรืออัตราเฉลี่ยที่ยึดหลักการความเสี่ยงของผู้ขอกู้ทุกคนเข้ามารวมกัน

เป็นที่แน่นอนว่าสินเชื่อที่ให้กับบริษัท เพราะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือมีกิจการที่จับต้องได้อย่างชัดเจน กลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่ำ มีรายได้ชัดเจน สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นที่ทาของรายได้ มีงบตัวเลขย้อนหลังแสดงให้เห็น ในขณะที่ การทำบัญชีของรายบุคคล ไม่ว่าจะเป็นรายรับ หรือรายจ่าย แม้แต่งบย้อนหลัง 3 ปีเป็นเท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้ เมื่อไม่มีหลักฐานการเงินที่ชัดเจนในแง่บุคคล ก็ต้องถือว่ารายย่อย หรือคนทั่วไปมีความเสี่ยงมากกว่าธุรกิจ ดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์คิดบนผู้ขอกู้ซึ่งทำธุรกิจจึงมีอัตราถูกกว่า ดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์คิดกับบุคคลธรรมดาทั่วไป

รศ.ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ หัวหน้าฝ่ายบริหารความเสี่ยงและโครงสร้างองค์กร ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวต่อไปว่า ถ้าพูดว่าธนาคารพาณิชย์มีกำไรมากมาย ต้องไปดูว่าธนาคารไหนมีกำไรมาก อย่าไปเหมารวมทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ว่ามีกำไร ความหมายคือ ไม่ใช่ทุกธนาคารพาณิชย์ที่กำไรเยอะ การมองเหมารวมทั้งหมด ไม่ได้บอกภาพอะไร

ทั้งนี้ จนถึงวันนี้ 20 มกราคม 2567 ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ในระบบของประเทศไทยที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการ พบว่ามีธนาคารพาณิชย์ 9 แห่ง รายงานผลกำไรสุทธิปี 2566 ดังนี้
1. ธนาคารกรุงเทพ 41,636 ล้านบาท
2. ธนาคารกรุงศรี 32,929 ล้านบาท
3. ธนาคารกสิกรไทย 42,405 ล้านบาท
4. ธนาคารเอสซีบีเอ็กซ์ 43,521 ล้านบาท
5. ธนาคารกรุงไทย 36,616 ล้านบาท
6. ธนาคารทีทีบี 18,462 ล้านบาท
7. ธนาคารทิสโก้ 7,302 ล้านบาท
8. ธนาคารแอลเอ็ชแบงก์ 1,693 ล้านบาท
9. ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย 1,605 ล้านบาท

ส่งผลให้ผลประกอบการกำไรสุทธิรวมกันตามข้างต้นสูงถึง 226,169 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์กำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ 8 แห่งในประเทศไทย ที่คาดว่าจะมีสูงถึงรวมกันกว่า 220,000 ล้านบาท ซึ่งตามตัวเลขดังกล่าวนั้น กลายเป็นผลกำไรสุทธิธนาคารพาณิชย์มากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทย