คนไทยทำใจราคาเนื้อสัตว์แพงขึ้นถึงสิ้นปีนี้

343
0
Share:

คนไทยทำใจราคาเนื้อสัตว์แพงขึ้นถึงสิ้นปีนี้ สวนมูลค่าตลาดเนื้อสัตว์ฟื้นตัวไม่ถึงครึ่งของปี 63
.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่าในช่วงที่เหลือของปี 64 ทิศทางราคาเนื้อสัตว์น่าจะยืนตัวอยู่ในระดับสูง จากต้นทุนในการป้องกัน-ควบคุมโรคทั้งในคนและสัตว์ ต้นทุนวัตถุดิบอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนค่าขนส่งสินค้านำเข้าที่มีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง ในขณะที่เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนอ่อนค่า อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิดที่ยังไม่คลี่คลาย ประกอบกับเนื้อสัตว์ยังจัดเป็นสินค้าควบคุมราคา การผลักภาระต้นทุนไปยังผู้บริโภคจึงอาจทำได้เพียงบางส่วน ดังนั้น ความท้าทายจึงอยู่ที่การบริหารต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิต เพื่อให้สามารถประคับประคองธุรกิจต่อไปได้ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs
.
คาดว่าในปี 64 การใช้จ่ายอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ยังคงเติบโตได้ราว 2.0% หรือมีมูลค่าตลาดประมาณ 250,000 ล้านบาท (เทียบกับปี 2563 ที่ขยายตัว 6.3%) โดยมีปัจจัยหลักมาจากผลของราคาเนื้อสัตว์ ซึ่งคาดว่าราคาขายปลีกเนื้อสัตว์เฉลี่ยจะปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 2-3% เมื่อเทียบกับปี 63 ในขณะที่ปริมาณการบริโภคน่าจะไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากกำลังซื้อในฝั่งของผู้บริโภคและซัพพลายเออร์สำคัญอย่างธุรกิจร้านอาหาร ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิดและไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ภายในปีนี้
.
ดังนั้น ความท้าทายสำคัญจึงอยู่ที่การบริหารต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตเนื้อสัตว์ ทั้งการพิจารณาปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น การใช้วัตถุดิบทดแทน การวางแผนใช้วัตถุดิบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและการผลิตสินค้าในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน
.
ทั้งนี้ โจทย์สำคัญของธุรกิจในระยะข้างหน้า นอกเหนือจากการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบทางเลือกอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากราคาวัตถุดิบหลักที่ผันผวน ซึ่งเป็นปัญหาหลักของธุรกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแล้ว การปรับธุรกิจเข้าสู่มาตรการป้องกันความปลอดภัยในโรงงานที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาดใหม่ๆ ยังมีความจำเป็นในการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยด้านอาหารให้กับคู่ค้า สอดคล้องกับมาตรฐานสินค้าที่มีแนวโน้มจะยกระดับขึ้น ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะมีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในอนาคต