คนไทยมองผ่านโพล! นายกรัฐมนตรีเปลี่ยนไป ไม่เด็ดขาด

523
0
Share:

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ ซูเปอร์โพล เปิดเผยว่า ผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง โควิด-19 กับ การปฏิรูปกรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ทำให้เห็นถึงความรู้สึกประชาชนที่มีต่อการแก้ไขปัญหาโรคระบาดโควิด-19 รอบที่สองของราชการไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้
.
98.5% ระบุว่าข้าราชการ และเจ้าหน้าที่รัฐคือ ต้นตอและอุปสรรคในการแก้วิกฤตชาติ และโรคระบาดโควิด-19 รอบใหม่ ทั้งทุจริตต่อหน้าที่ ปล่อยปละละเลย และมีส่วนทำเอง
.
98.3% มองว่านายกรัฐมนตรีควรไล่บี้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง จัดการหัวหน้าส่วนราชการเป็นต้นเหตุโรคระบาดโควิด-19 รอบใหม่
.
96.5% ระบุว่าถ้าจัดการผู้บัญชาการตำรวจแต่ละระดับ ก็ต้องจัดการหัวหน้าส่วนราชการอื่น ๆ ด้วย เช่น กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย เพราะอยู่ในพื้นที่เกี่ยวข้องทั้งแรงงานต่างด้าว และบ่อน
.
96.3% มองว่าสิ่งที่เห็นคือ ความจอมปลอมของนักการเมือง ผู้มีอำนาจรัฐท่าทีขึงขังจัดการบ่อนพนัน แต่หลังลงพื้นที่ เจอผลประโยชน์เอื้อ เรื่องเงียบ
.
91.9% ระบุว่านายกรัฐมนตรีเปลี่ยนไป ไม่เด็ดขาด จัดการหัวหน้าส่วนราชการที่เป็นต้นเหตุโรคระบาดโควิด-19 รอบใหม่ ไม่เหมือนช่วงยึดอำนาจใหม่ ๆ
.
สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เปิดเผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง โควิด-19 กับ การปฏิรูปกรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ที่ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,445 ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 5 – 8 มกราคม 2564
.
ซูเปอร์โพล เผยว่า ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่ 48.7% ระบุยังไม่เห็นมี หัวหน้าส่วนราชการใด ออกมาทำให้เห็นว่า จะแก้ไขในสิ่งผิด และที่น่าพิจารณาคือ 96.9% ต้องการเห็นการปฏิรูปการทำงานของ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ตำรวจ แรงงาน มหาดไทย ถอนรากถอนโคน ขบวนการต้นตอแพร่เชื้อโควิด-19 คืนความสุขประชาชนเหมือนเคยสัญญาไว้ หลังยึดอำนาจปี 2557
.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ ซูเปอร์โพล กล่าวว่า อิทธิพลมืดบดขยี้อำนาจรัฐ กำลังเป็นภาพเด่นชัดขึ้นหลังโรคโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจรัฐอ่อนแอ แต่ทำเป็นขึงขังจัดการเด็ดขาด แต่กลับแพ้ผลประโยชน์ส่วนตัว และพวกพ้องที่เกี้ยเซียะลงตัวจนเรื่องเงียบ และสิ่งที่เห็นชัดคือ ความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า
.
ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าวจัดทำขึ้นกับกลุ่มประชาชนจำนวน 1,445 ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 5 – 8 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา