YOUNG@HEART SHOW : รู้ทันโรค “แบคทีเรียกินเนื้อคน” อันตรายถึงตาย!!

Share:
โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน

          น่ากลัวมาก! โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน หรือ Necrotizing Fasciitis ทำให้เนื้อตายจนต้องคว้านทิ้งเป็นวงกว้าง ยิ่งทิ้งไว้นานเนื้อตายก็จะยิ่งเยอะ จนต้องตัดแขนขาเลยก็มี กรณีนี้เกิดขึ้นกับบอย ปกรณ์นักแสดง และก่อนหน้านี้ไม่นานกับแจ็คไรเดอร์ดีเจ ทำให้หลายคนเริ่มกังวลว่าอาจเจอกับตัวเองได้ วันนี้เรามาดูกันว่าโรคแบคทีเรียกินเนื้อคนนั้นเกิดขึ้นได้ยังไง และควรระวังตัวอย่างไร

 

ภาพจาก Pixabay.com

 

สาเหตุโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน

         สาเหตุเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น Group A Streptococcus, Clostridium, Klebsiella, Staphylococcus Aureus, E. Coli หรือ Aeromonas Hydrophila เป็นต้น เชื้อแบคทีเรียเหล่านี้จะอยู่รอบๆ ตัวเรา เมื่อมีบาดแผล เช่น แมงกัด หรือหกล้มมีแผลถลอก ถ้าผิวหนังเปิดก็สามารถรับเชื้อได้ อาจรุนแรงถึงขั้นเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด เชื้อนี้ไม่ได้เกิดจากแมลงกัด 100% แต่พิษของแมลงก็อาจมีส่วนทำให้เชื้อแบคทีเรียรุนแรงขึ้น หรือแมลงเองอาจเป็นพาหะนำเชื้อมาสู่แผลค่ะ

 

ภาพจาก Pixabay.com

 

อาการของโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน

          มีอาการบวมแดง ปวดแสบปวดร้อนรอบแผล และลามเป็นวงกว้างขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แผลจะเปลี่ยนสีจากแดงเป็นม่วงคล้ำ ตอนนี้จะรู้สึกเจ็บปวดมาก บริเวณกล้ามเนื้อตึง มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เป็นไข้ อาเจียน ตัวร้อน อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ บริเวณแผลจะเริ่มเน่าและส่งกลิ่นเหม็น เนื่องจากเนื้อตายค่ะ บางคนเป็นรุนแรงอาจถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคน ชนิดของเชื้อแบคทีเรียที่ได้รับ และระยะเวลาในการติดเชื้อค่ะ

 

วิธีการรักษาโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน

          อันดับแรกควรไปพบแพทย์ทันทีที่รู้ตัว แพทย์จะทำการให้ยาปฏิชีวนะ ผ่าตัดเอาเนื้อตายออกให้หมด เก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อไปเพาะเชื้อดูว่าเป็นแบคทีเรียตัวไหน และรักษาแผลตามอาการค่ะ ต้องใช้เวลารักษานานสมควรเลยล่ะ

 

ภาพจาก Pixabay.com

 

วิธีการป้องกันโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน

1. ระมัดระวังตัวเวลาไปเที่ยว หรือทำกิจกรรมเอ็กซ์ตรีม อย่าให้ร่างกายเป็นแผล

2. ล้างแผลทันทีที่เกิดอุบัติเหตุ หรือโดนแมลงกัด แม้แผลจะเล็กน้อยก็ต้องล้างไว้ก่อนค่ะ

3. ถ้าเป็นแผลก็ไม่ควรจับแผลบ่อยๆ ควรหาพลาสเตอร์มาปิดแผลกันเชื้อโรคเข้า

4. ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนทำแผล และล้างแผลทุกวัน

5. ถ้าเป็นแผลควรหลีกเลี่ยงการใช้สระว่ายน้ำสาธารณะ อ่างอาบน้ำสาธารณะ และห้องน้ำสาธารณะ จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

6. สังเกตอาการแผล ถ้ามันเริ่มลามเป็นวงใหญ่ ให้รีบพบแพทย์ค่ะ

 

          ใครที่กำลังจะเดินทางไปเที่ยว ก็ควรระวังตัว พกพาสเตอร์ยาและน้ำเกลือไปบ้าง เผื่อเป็นแผลขึ้นมาจะได้รีบล้างแผลก่อน จากนั้นปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ แล้วไปหาสถานพยาบาลทำแผลอีกที ป้องกันการติดเชื้อ กรณีแมลงกัดก็มักพบบ่อยในแหล่งท่องเที่ยงเชิงธรรมชาติ ฉะนั้นต้องระวังตัวเอง ถ้าเป็นให้รีบหาหมอ เพื่อที่จะได้รักษาทันเวลาค่ะ ระวังโรคได้แต่อย่ากลัวมากนะคะ เดี๋ยวจะเที่ยวไม่สนุกค่ะ

 

 

ข้อมูลจาก : pobpad.com | www.vibhavadi.com | Fanpage – Infectious ง่ายนิดเดียว

Young@Heart Show