คาดหนี้ทั่วโลกปีนี้ ทะลุ 255 ล้านล้านดอลลาร์ฯ

1723
0
Share:

สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) เปิดเผยว่าหนี้สินทั่วโลก พุ่งขึ้น 7.5 ล้านล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 250.9 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 และจะสูงเกินกว่าระดับ 255 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ณ สิ้นปี 2562
.
IIF เปิดเผยรายงานระบุว่า หนี้สินทั่วโลกได้พุ่งขึ้นแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์สูงกว่า 250 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ นำโดยการพุ่งขึ้นของหนี้สินในสหรัฐและจีน รายงานระบุว่า จีนและสหรัฐมีสัดส่วนหนี้สินเพิ่มขึ้นกว่า 60% ขณะที่หนี้สินของประเทศในตลาดเกิดใหม่แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ด้วยเช่นกันที่ระดับ 71.4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 220% ของ GDP
.
โดย IIF ประมาณการว่า ระดับหนี้สินทั่วโลกจะสูงกว่า 255 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้ เนื่องจากแทบไม่มีสัญญาณการชะลอตัวของอัตราการสะสมหนี้
.
ทั้งนี้หนี้ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั่วโลกเป็นสิ่งที่นักลงทุนวิตกกังวลมาตลอด โดยหนึ่งในปัจจัยเร่งคือระดับอัตราดอกเบี้ยต่ำ ที่ทำให้ภาคธุรกิจและภาครัฐกู้ยืมเงินมากขึ้น ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งเคยเตือนว่า ปัญหาหนี้พอกพูนจะเป็นชนวนให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่
.
เช่นเดียวกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ที่ออกมาเตือนเมื่อเดือนที่ผ่านมา ถึงความเสี่ยงจากระดับการก่อหนี้ที่สูงมากในภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากการลดหรือตรึงอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยธนาคารกลางของหลายประเทศ
.
IMF เตือนว่า หนี้ที่ก่อโดยภาคธุรกิจเกือบ 40% หรือราว 19 ล้านล้านดอลลาร์ในประเทศเขตเศรษฐกิจรายใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น, เยอรมนี, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, อิตาลี และสเปน ต่างอยู่ในระดับที่เสี่ยงต่อการเกิดการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งอาจเป็นชนวนสู่วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งถัดไป
.
อย่างไรก็ตาม IIF ระบุในรายงานว่า ด้วยขนาดที่เล็กลงของมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในหลายประเทศทั่วโลก ประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูงมาก เช่น อิตาลี และเลบานอน ตลอดจนประเทศที่รัฐบาลก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างอาร์เจนตินา, บราซิล, แอฟริกาใต้ และกรีซ อาจใช้เครื่องมือกระตุ้นทางการคลังได้ยากขึ้น
.
แต่ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกไม่ได้กังวลกับปัญหาหนี้ที่พุ่งขึ้นเหล่านี้มากนัก โดยนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ได้กล่าวต่อคณะกรรมาธิการด้านงบประมาณแผ่นดินของสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐฯ เมื่อวันที่14 พฤศจิกายนว่า เขายังไม่เห็นสัญญาณว่าจะเกิดภาวะฟองสบู่หรือความเสี่ยงฉับพลันที่เกิดจากการขาดดุลงบประมาณนับล้านล้านดอลลาร์