ดัชนีหุ้นดาวโจนส์พลิกพุ่งปิดกว่า 200 จุด น้ำมันดิบโลกปิดลงเหลือกว่า 77 ดอลลาร์

161
0
Share:
ดัชนี หุ้น ดาวโจนส์ พลิกพุ่งปิดกว่า 200 จุด น้ำมันดิบโลกปิดลงเหลือกว่า 77 ดอลลาร์

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2023 (ตามเวลาในสหรัฐ) ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ปิดที่ระดับ 33,944 จุด +209 จุด หรือ +0.62% ดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ระดับ 4,409 จุด +10 จุด หรือ +0.24% และดัชนีหุ้นนาสแดค ปิดที่ระดับ 13,685 จุด +24 จุด หรือ +0.18%

ในสัปดาห์ผ่านไป ดัชนีหุ้นสำคัญทั้ง 3 แห่ง ปิดลดลง -1.96%, -1.16% และ -0.92% ตามลำดับ ทำให้ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ในสัปดาห์นี้ ทำสถิติย่ำแย่ที่สุดในรอบ 4 เดือน หรือตั้งแต่มีนาคมผ่านมา

สาเหตุจากนักลงทุนกลับมาเข้าซื้อหุ้นที่มีราคาตกต่ำต่อเนื่องในปลายสัปดาห์ผ่านไป หลังจากดัชนีหุ้นดาวโจนส์ร่วงหนักถึง 3 วันทำการติดต่อกันในสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ นักลงทุนรอการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อผู้บริโภคเดือนมิถุนายนที่จะประกาศเบื้องต้นในคืนวันนี้ รวมถึงการประกาศเงินเฟ้อผู้ผลิตเดือนมิถุนายนที่จะประกาศในกลางสัปดาห์นี้ โดยคาดการณ์ว่าจะอยู่ในเป้าหมายที่ตลาดประเมินไว้

นักลงทุนยังคงติดตามแนวโน้มสูงในการปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด ที่จะมีการประชุมในวันที่ 13-14 กรกฎาคมนี้ ถึงแม้ว่าในคืนผ่านมา ยอดการจ้างแรงงานชาวอเมริกันนอกภาคการเกษตรเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นเพียง 209,000 คน ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 240,000 คน และยังลดลงจากเดือนพฤษภาคมที่จ้างงานสูงถึง 339,000 คนก็ตาม ที่สำคัญ เป็นยอดการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในรอบ 2 ปี 6 เดือนกว่า หรือตั้งแต่ธันวาคม 2020 สอดคล้องกับอัตราการว่างงานในเดือนเดียวกันยังคงลดต่ำลงต่อเนื่องจากเดือนพฤษภาคมมาอยู่ที่ 3.6% เป็นประวัติการณ์

ขณะที่ตัวชี้วัดแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด ที่เรียกว่า ซีเอ็มอีเฟดวอทช์ ทูล พบว่า มีโอกาส 92% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าว 0.25% ในการประชุมเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งลดลงจากเดิมที่ให้น้ำหนัก 95% ในรอบ 24 ชั่วโมงผ่านมา ที่สำคัญ โอกาสลดดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมปีนี้ ซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้

ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ 72.99 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล -0.87 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ -1.2% ส่งผลหยุดราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ปิดเพิ่มขึ้น 4 วันติดต่อกันถึง +5.51 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทำสถิติราคาปิดสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ หรือตั้งแต่ 24 พฤษภาคมผ่านมา

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 มีราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ สหรัฐอเมริกา พุ่งขึ้นสูงสุดที่ 130.50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทำสถิติราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ที่สูงสุดนับตั้งแต่กันยายน 2008 หรือในรอบ 13 ปี 5 เดือน

ด้านราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ ปิดที่ 77.69 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล -0.78 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ -1.0%

ในสัปดาห์ผ่านไป ราคาน้ำมันดิบทั้ง 2 แห่ง ปิดทะยานขึ้น 5%

ในปี 2022 ผ่านไปราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ มีราคาสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2008 หรือในรอบ 13 ปี 7 เดือน โดยเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2565 มีขึ้นมาสูงสุดระหว่างวันที่ระดับ 139.13 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

สาเหตุจากนักลงทุนกลับมาให้น้ำหนักกับปัจจัยแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสำคัญของโลกทั้งธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด และธนาคารกลุ่มยูโร หรืออีซีบี โดยเฉพาะตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนในสหรัฐอเมริกาที่พุ่งทะยานเกินคาดหมายถึงกว่า 2 เท่า เป็นแรงกดดันสูงมากต่อการประชุมของเฟดในกลางเดือนนี้

ท่ามกลางปัจจัยภาวะสต๊อกน้ำมันดิบทั่วโลกตึงตัวจากการที่กลุ่มโอเปกพลัสนำโดยซาอุดีอาระเบียประกาศลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจถึงวันละ 1 ล้านบาร์เรลเพิ่มเติมในเดือนสิงหาคมหลังจากเริ่มต้นลดกำลังการผลิตวันละ 1 ล้านบาร์เรลในเดือนนี้เป็นเดือนแรก สอดคล้องกับรองนายกรัฐมนตรี รัสเซีย กล่าวว่า จะลดปริมาณการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบไปตลาดโลกวันละ 500,000 บาร์เรล มีผลในเดือนสิงหาคมนี้ ปริมาณดังกล่าวเท่ากับ 1.5% ของปริมาณซัพพลายน้ำมันดิบตลาดโลก รวมถึงอัลจีเรียประกาศลดปริมาณการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบไปตลาดโลกวันละ 20,000 บาร์เรล มีผลในเดือนสิงหาคมด้วย

หากซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย และอัลจีเรีย ลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบตามที่ประกาศไว้ในเดือนหน้าเต็มรูปแบบ ทำให้มีปริมาณน้ำมันดิบลดลงถึงวันละ 5.35 ล้านบาร์เรล และอาจเป็นไปได้ที่จะลดลงมากกว่าตัวเลขดังกล่าว เนื่องจากประเทศสมาชิกหลายแห่งในกลุ่มโอเปกพลัสยังไม่สามารถผลิตน้ำมันดิบได้ตามโควต้าการผลิตที่กำหนดไว้

ขณะนี้ การลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกพลัสที่เริ่มต้นในเดือนนี้ ทำให้มีปริมาณน้ำมันดิบลดลงมากกว่าวันละ 5 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็น 5% ของปริมาณผลิตน้ำมันดิบทั่วโลก

ราคาทองคำส่งมอบทันที หรือ Gold Spot ปิดที่ 1,925.30 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ +1.24 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ +0.1% ขณะที่ราคาทองคำล่วงหน้า หรือ Gold Future นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ระดับ 1,931.00 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ -1.50 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ -0.1%

ในสัปดาห์ผ่านไป ราคาทองคำตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น +0.4% และเป็นสัปดาห์แรกที่ปิดเพิ่มขึ้นใน 4 สัปดาห์ผ่านมา

เมื่อกลางเดือนเมษายนผ่านไป ราคาทองคำล่วงหน้ามีราคาปิดสูงสุดในรอบ 1 ปีที่ 2,048.71 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ จากวิกฤตธนาคารเอสวีบี และเอสบี ปิดกิจการและถูกควบคุมโดยทางการสหรัฐอเมริกา

ย้อนกลับไปในปี 2022 ผ่านไปเมื่อเดือนมีนาคม พบว่าราคาทองคำล่วงหน้ามีราคาสูงสุดระหว่างวันขึ้นไปถึง 2,072.49 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์

สาเหตุจากนักลงทุนรอติดตาม 2 ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน ได้แก่ เงินเฟ้อผู้บริโภค และเงินเฟ้อผู้ผลิต ที่จะประกาศในคืนวันนี้และคืนวันพรุ่งนี้ เพื่อประเมินสัญญาณและแรงกดดันต่อการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาในการประชุมกลางเดือนนี้

การประกาศบันทึกผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ของการประชุมในเดือนผ่านไป พบว่า กรรมการทุกคนมีมมุมมองเดียวกันที่จะปรับขึ้นมาดอกเบี้ยระยะสั้นต่อไป แต่ในแนวโน้มที่ไม่เพิ่มขึ้นสูงเหมือนช่วงผ่านมา

นักลงทุนยังคงกังวลกับการยืนยันแนวโน้มดอกเบี้ยระยะสั้นจากประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด ยังต้องปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ รวมถึงประธานธนาคารกลางกลุ่มยูโรที่กล่าวว่า เงินเฟ้อในกลุ่มยูโรยังควบคุมได้ยาก จึงเลี่ยงที่จะพูดถึงรอบการสิ้นสุดการขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้น

ขณะนี้ ตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่เรียกว่า เฟดวอช์ท พบว่า โอกาสขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริการาว 0.25% ในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 92% ลดลงเล็กน้อยจากเมื่อวานนี้ที่ระดับ 95%