พาณิชย์เผยส่งออกเดือน เม.ย. 66 หดตัวแรงกว่า 7.6% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7

200
0
Share:
พาณิชย์ เผย ส่งออก เดือน เม.ย. 66 หดตัวแรงกว่า 7.6% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมการส่งออกไทยในเดือนเม.ย.2565 ยังคงติดลบ 7.6% หรือมีมูลค่า 21,723 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ส่วนการนำเข้าติดลบ 7.3% คิดเป็นมูลค่า 23,195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดุลการค้าติดลบ 1,471 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก กดดันอุปสงค์ด้านการส่งออก หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียยังคงเผชิญกับการส่งออกที่ชะลอตัว ที่แม้ว่าปัจจัยด้านเงินเฟ้อจะชะลอลง แต่ความเปราะบางของภาคธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป กดดันให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรที่ติดลบ 11.2% จากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาพลังงาน

ดังนั้นจึงส่งผลให้การส่งออก 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ส่งออกไทยโตติดลบ 5.2% หรือมีมูลค่า 92,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้าติดลบ 2.2% มูลค่า 96,519 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้าไทยติดลบ 4,516 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้การที่ส่งออกไทยติดลบต่อเนื่องจากกลุ่มอุตสหกรรม และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวค่อนข้างสูงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามสินค้าในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ในเดือนเม.ย. ยังขยายตัวได้ 8.2% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และ แห้ง ข้าว เครื่องดื่ม ไก่สด และ แช่แข็ง เป็นต้น

ส่วนตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่กลับมาหดตัว ตามการชะลอตัวของอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลก อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณบวกที่สำคัญจากการส่งออกไปตลาดจีนกลับที่มาขยายตัวในรอบ 11 เดือน ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ ได้แก่ ตลาดหลัก หดตัว 6.2% โดยหดตัวในตลาดสหรัฐฯ 9.6% ญี่ปุ่น 8.1% อาเซียน (5) 17.7% CLMV 17.0% และสหภาพยุโรป (27) 8.2% ขณะที่ตลาดจีนกลับมาขยายตัว 23.0%

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้หลายประเทศยังคงใช้นโยบายการเงินอย่างเข้มงวด ขณะที่มีความเสี่ยงจากปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ปัญหาวิกฤตการเงินของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ และยุโรป และปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯสร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลก

ขณะที่การฟื้นตัวของตลาดจีนที่เกิดขึ้นในช่วง1-2 เดือนที่ผ่านมา เป็นสัญญาณบวกต่อการส่งออกไทย ส่วนปัญหาความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้นในหลายประเทศ ที่ประสบปัญหาภัยแล้งจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป จะเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยปี 2566