พึ่งวัคซีนจีน! สื่อนอกชี้พึ่งวัคซีนต้านโควิด-19 จีน หนึ่งในเหตุกลับมาติดเชื้อพุ่งขึ้นแม้จะฉีดคลุมประชากรมากที่สุด

536
0
Share:

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี เปิดเผยว่า วัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ผลิตโดยจีนแผ่นดินใหญ่ กำลังเผชิญความสงสัยอย่างมากมายเกี่ยวกับประสิทธิภาพที่ยังคงขาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์ หรือสายพันธุ์ที่มีศักยภาพสูงในการแพร่ระบาดรวดเร็วขึ้น

แต่ถึงกระนั้น ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าประเทศหลายแห่งไม่ควรจะหยุดการใช้วัคซีนป้องกันโรคระบาดจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ขาดแคลน หรือมีวัคซีนไม่เพียงพอ ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้ต่ำ

ซีเอ็นบีซี เปิดเผยว่ามี 6 ประเทศที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 มากที่สุดอันดับต้นๆของโลก แต่กลับมีอัตราการติดเชื้อกลายพันธุ์เพิ่มสูงมากขึ้น สิ่งสำคัญที่พบคือ 5 ใน 6 ประเทศดังกล่าวนั้น พึ่งพาและใช้วัคซีนจากจีนแผ่นดินใหญส

ในการวิเคราะห์ครั้งนี้ ซีเอ็นบีซีแจกแจง 36 ประเทศ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 1,000 คนในสัปดาห์ต่อจำนวนประชากร 1 ล้านคน โดยเป็นข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมาจากฐานข้อมูลของ Our World Data ที่ทำการรวบรวมข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ข้อมูลจากรัฐบาลและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร นอกจากนี้ ยังได้ใช้กฎเกณฑ์ที่ว่า ประเทศทั้ง 36 แห่งซึ่งมีการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรถึง 60% ของทั้งหมดที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส ซึ่งได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรต หรือยูเออี เซเชลลส์ มองโกเลีย อุรุกวัย ชิลี โดย 5 ประเทศนั้นพึ่งพาวัคซีนจากจีนแผ่นดินใหญ่เป็นวัคซีนหลักของประเทศ และสหราชอาณาจักร ซึ่งไม่ได้พึ่งพาวัคซีนจากจีนแผ่นดินใหญ่

ประเทศมองโกเลีย ได้รับวัคซีนซิโนฟาร์มจำนวน 2.3 ล้านโดส ซึ่งมีจำนวนมากกว่าวัคซีนสปุตนิก วี ที่ได้รับจากรัสเซียจำนวน 80,000 โดส และวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับ 255,000 โดส ซึ่งประเทศมองโกเลียพึ่งจะได้รับวัคซีน 2 ยี่ห้อดังกล่าวมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศชิลีทำการฉีดวัคซีนซิโนแวค 16.8 ล้านโดส ในขณะที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เพียง 3.9 ล้านโดส

ประเทศยูเออี และเซเชลลส์ ล้วนพึ่งพาวัคซีนซิโนฟาร์มอย่างมากในช่วงที่เริ่มต้นฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศ แต่ในช่วงที่ผ่านมาทั้ง 2 ประเทศเริ่มฉีดวัคซีนยี่ห้อแทนมากขึ้น ส่วนประเทศอุรุกวัยนั้น วัคซีนยี่ห้อซิโนแวคเป็น 1 ใน 2 ยี่ห้อที่ใช้ฉีดมากที่สุด นอกเหนือจากวัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์ที่มีอยู่ ในขณะที่สหราชอาณาจักร อนุมัติการใช้วัคซีนยี่ห้อโมเดอร์นา แอสตร้าเซเนก้า ไฟเซอร์ และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ท่ามกลางปัจจุบันที่สหราชอาณาจักรเผชิญจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นอย่างมากกับสายพันธุ์เดลต้า หรืออินเดีย

ซีเอ็นบีซี เปิดเผยต่อไปว่า วัคซีนแต่ละยี่ห้อทั้งจากที่ผลิตจากประเทศต้นทางที่เป็นเจ้าของยี่ห้อ หรือที่ร่วมผลิตในต่างประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐ สหราชอาณาจักร และจีนแผ่นดินใหญ่นั้น พบว่า แต่ละยี่ห้อมีจำนวนประเทศทั่วโลกที่อนุมัติขึ้นทะเบียนเพื่อการใช้งานฉุกเฉินแตกต่างกัน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ แอสตร้าเซเนก้า 117 ประเทศ ไฟเซอร์ 91 ประเทศ สปุตนิก วี จำนวน 69 ประเทศ ซิโนฟาร์ม จำนวน 56 ประเทศ โมเดอร์นา 54 ประเทศ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จำนวน 53 ประเทศ โควิชิลด์ (แบรนด์ในเครือแอสตร้าเซเนก้า) จำนวน 44 ประเทศ และซิโนแวค จำนวน 33 ประเทศ ซึ่งเป็นยี่ห้อวัคซีนที่มีจำนวนประเทศอนุมัติขึ้นทะเบียนน้อยที่สุด ทั้งหมดเป็นข้อมูลถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 จาก McGill Uinversity COVID-19 Vacine Tracker ข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนใช้งานฉุกเฉินที่ได้รับการยอมรับมากน้อยแตกต่างกันโดยมีจำนวนประเทศเป็นตัวชี้วัด