ม.หอการค้าไทยสวนเศรษฐกิจไทยฟื้น แถมหนี้ครัวเรือนไม่ใช่ปัญหา แรงงานไทยจ่ายหนี้นอกระบบ

214
0
Share:
ม. หอการค้าไทย สวนเศรษฐกิจไทยฟื้น แถมหนี้ครัวเรือนไม่ใช่ปัญหา แรงงานไทย จ่าย หนี้นอกระบบ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า แรงงานไทยระวังการใช้จ่ายชัดเจน เศรษฐกิจไทยยังไม่มั่นคงการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยรวมถึงสินค้าคงทนลดลง แรงงานหันไปซื้อสินค้าจำเป็นกันเท่านั้น สำหรับประเด็นการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ แม้แรงงานต้องการค่าแรงเพิ่ม แต่อยากให้เป็นไปตามระบบไตรภาคี เนื่องจากเข้าใจมากขึ้นว่าค่าแรงที่ปรับขึ้นจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า มีผลทำให้เจ้าของกิจการหันมาปรับขึ้นราคาสินค้า ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น

การขึ้นค่าแรงทุก 1 บาท ส่งผลให้การใช้จ่ายเพิ่ม 3,500-4,000 ล้านบาทต่อเดือน นอกจากนี้ แรงงานไทยมองว่าอาจทำให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปลงทุนประเทศอื่น เพราะต้นทุนการผลิตสูงและการหันไปใช้หุ่นยนต์มาทำงานแทน

อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดเผยผลสำรวจเกี่ยวกับ “สถานภาพแรงงานไทย กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท” พบว่า แรงงานส่วนใหญ่มีปัญหาด้านรายได้ไม่พอกับรายจ่าย จึงมีภาระหนี้ที่สูงขึ้น สาเหตุจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น มีการกู้เงินเพิ่มเพื่อใช้ชำระหนี้ ส่งผลก่อให้เกิดหนี้สะสม

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า แรงงานไทยหันมามีอาชีพเสริมมากขึ้น 15% จากปีก่อนหน้านี้ ทำให้มีรายได้เพิ่มต่อยอดรายได้จากค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ แรงงานมีชั่วโมงการทำงานที่มากขึ้น ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว และแรงงานมีสถานภาพที่ค่อยๆดีขึ้น แรงงานไทยยังมองว่าต้นทุนการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้ แรงงานมีค่าใช้จ่ายสะสมไม่ว่าจะเป็นทั้งค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ค่าเดินทางและค่าขนส่งปรับขึ้น ทำให้แรงงานมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น

สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของแรงงานไทยปีนี้ พบว่าขยายตัว 25.05% คิดเป็นมูลค่าหนี้ 272,528 บาทต่อครัวเรือน ความสามารถในการชำระหนี้ของแรงงานไทยยังคงปกติ ส่วนใหญ่เลือกชำระหนี้ขั้นต่ำและชำระบางส่วน การขาดชำระหนี้ ยังมีจำนวนที่น้อยเพียง 0.2% ของกลุ่มตัวอย่าง

การสำรวจยังพบว่า แรงงานไทยมีการชำระหนี้ในระบบมากขึ้นเป็น 79.84% ของวงเงินหนี้ และนอกระบบเหลือ 20.16% ซึ่งลดลงต่ำสุดในรอบ 14 ปร ด้านภาระดอกเบี้ยหนี้นอกระบบลดลงจากราว 20% เหลือเฉลี่ย 15.47% นั่นหมายความว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนของแรงงานไทยไม่มีความน่ากังวล

แรงงานไทยมีการใช้จ่ายเน้นอย่างแรก คือใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม ราว 14.9% ของรายได้ ในปี 2566 เริ่มเห็นแล้วว่าคนไทยหาเงินกู้ไปลงทุนประกอบธุรกิจ จึงทำให้มหาวิทยาลัยหอการค้ามองว่า เศรษฐกิจไทยฟื้น หนี้ครัวเรือนไม่ใช่ปัญหา การจับจ่ายใช้สอยหรือการก่อหนี้กลับมาทิศทางที่สร้างรายได้ และใช้ไปกับสิ่งที่จำเป็น