รัฐดันชิมช้อปใช้ก.พ.นี้สู่วิกฤติไวรัสโคโรนา

799
0
Share:

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่ามาตรการชิม ช้อป ใช้เฟส 4 น่าจะออกมาในช่วงเดือน ก.พ.2563 เพื่อให้เกิดผลกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะจัดทำมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด สำหรับกลุ่มเป้าหมายจะยังเน้นที่ประชาชนและร้านค้าในประเทศ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะคงกลุ่มเป้าหมายเดิมและเพิ่มกลุ่มเป้าหมายใหม่เข้ามาเสริม
.
เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างหลีกเลี่ยงไมได้ ทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยชะลอตัวลงตามไปด้วย และการใช้จ่ายในประเทศก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้น กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือสศค.//กรมสรรพากร และกรมบัญชีกลาง เร่งพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย และการบริโภคภายในประเทศเพิ่มเติม ซึ่งจะต้องเสร็จและสามารถดำเนินการได้ภายในเดือน ก.พ. 2563
.
โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประเมินผลมาตรการ ชิม ช้อป ใช้ เฟส 3 ในวันที่ 31 ม.ค.นี้ โดยมีผู้ได้รับสิทธิ 12.6 ล้านคน ร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการ จำนวน 1.7 แสนร้านค้า มีผู้ใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ช่องที่ 1 วงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท และช่องที่ 2 วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท
.
นอกจากนี้ สศค.ได้คิดมาตรการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยสนับสนุนให้คนไทยเที่ยวเมืองไทย และสามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และจะมีมาตรการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ดีขึ้น โดยจะให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในการปรับปรุงที่พัก แหล่งท่องเที่ยว รวมถึงอาจจะให้ผู้ประกอบการนำค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มาหักลดหย่อนภาษีได้มากกว่า 1 เท่า
.
ส่วนเรื่องการแจกเงินต้องรอดูก่อน โดยไม่ต้องห่วงในเรื่องของงบประมาณที่จะใช้ เพราะรัฐบาลยืนยันว่าจะใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ใช้แบบสุรุ่ยสุร่ายหรือหว่านจ่าย
.
โดยเบื้องต้นสามารถนำเงินจากงบกลางปี 2563 มาใช้ได้ก่อน เช่น หากมีความต้องการใช้เงิน 1 หมื่นล้านบาท ก็สามารถขอคณะรัฐมนตรีได้เพื่อนำมาใช้ก่อน เพราะปัจจุบันยังเหลือเงินจากมาตรการชิม ช้อป ใช้ที่ดำเนินการมาแล้ว 5 พันล้านบาท จากทั้งหมด 1.9 หมื่นล้านบาท
.
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะทบทวนประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือGDP ในปีนี้ จากเป้าหมายเดิมคาดว่าจะเติบโต 3.3% เนื่องจากมีหลายปัจจัยกระทบ โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว และเหตุการณ์ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากจีน ซึ่งจะประเมินให้อยู่ในภาพของความเป็นจริง และรัฐบาลมีวิธีการบริหารจัดการกับผลกระทบที่เกิดขึ้น
.
สำหรับแนวโน้มเงินบาทที่อ่อนค่าลง เชื่อว่าจะส่งผลดีกับภาคการส่งออกอย่างแน่นอน แต่จะมากน้อยแค่ไหนยังไม่สามารถชี้แจงได้ เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการส่งออก ทั้งอุปสงค์ของตลาดโลกที่ยังชะลอตัว ไม่ใช่แค่ค่าเงินบาทอย่างเดียว แต่ก็มีสัญญาณดีจากการที่สหรัฐฯและจีนตกลงทางการค้ากันได้ ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องโรคระบาดเข้ามา ซึ่งในส่วนของไทยยืนยันว่าควบคุมได้ แม้ว่าจะเจอเคสใหม่ก็ตาม และยังไม่มีมติห้ามคนจีนเข้าประเทศ
.