รัฐบาลสหรัฐเข้าควบคุมกิจการธนาคารเฟิร์สท รีพลับลิก แบงก์ เป็นวิกฤตธนาคารแห่งที่ 3 ล้ม

229
0
Share:
รัฐบาล สหรัฐ เข้า ควบคุมกิจการ ธนาคาร เฟิร์สท รีพลับลิก แบงก์ เป็นวิกฤตธนาคารแห่งที่ 3 ล้ม

องค์กรการคลังแห่งนวัตกรรมและการคุ้มครองการเงิน หรือ CDFPI รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา แถลงว่า มีมติเข้าควบคุมกิจการธนาคารเฟิร์สท รีพลับลิก แบงก์ หรือ FRB ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครซาน ฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เนื่องจากการเปิดประมูลเข้าซื้อกิจการธนาคารดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ

ในขณะเดียวกัน มีมติให้ขายสินทรัพย์ของธนาคารเฟิร์สท รีพลับลิก แบงก์ หรือ FRB ทั้งหมดให้กับธนาคารเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค เข้าซื้อและควบรวมกิจการธนาคารเฟิร์สท รีพลับลิก แบงก์ หรือ FRB อย่างเบ็ดเสร็จ ธนาคารเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค จะรับผิดชอบและดำเนินธุรกรรมการรับฝากเงิน รวมถึงเงินฝากที่ยังไม่ได้รับการประกันเงินฝาก และสินทรัพย์ทั้งหมดของธนาคารเฟิร์สท รีพลับลิก แบงก์ หรือ FRB

สำหรับสาขาทั้งหมด 84 แห่งของธนาคารเฟิร์สท รีพลับลิก แบงก์ หรือ FRB จะเปิดให้บริการตามปกติในวันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม 2023 ตามเวลาในสหรัฐอเมริกาในชื่อใหม่เป็นธนาคารเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค

การล่มสลายของธนาคารเฟิร์สท รีพลับลิก แบงก์ หรือ FRB ของสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ นับเป็นการล่มสลายของกิจการธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ที่ 2 ในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา ด้านสถาบันประกันเงินฝากแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ FDIC เปิดเผยว่า ได้คาดการณ์ความเสียหายของการประกันเงินฝากจะมีมูลค่าสูงถึง 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.085 ล้านล้านบาท

ธนาคารเฟิร์สท รีพลับลิก แบงก์ หรือ FRB เป็นธนาคารระดับภูมิภาค มีขนาดใหญ่ลำดับที่ 14 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกลายเป็นธนาคารที่ถูกปิดตัวลงเป็นแห่งที่ 3 ในสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่เดือนมีนาคมปีนี้เป็นต้นมา โดยรายแรก คือ ธนาคารซิลลิคอน วัลเล่ย์ แบงก์ หรือ SVB ปิดตัวลงในเดือนมีนาคม เป็นธนาคารระดับภูมิภาค มีขนาดใหญ่อันดับที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา ต่อมาธนาคารซิกเนเจอร์ แบงก์ หรือ SB เป็นธนาคารระดับภูมิภาค ปิดตัวลงในช่วงต้นเดือนเมษายน มีขนาดใหญ่อันดับที่ 29 ของสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม กิจการธนาคารเฟิร์สท รีพลับลิก แบงก์ หรือ FRB ปิดตัวลงในครั้งนี้ นับเป็นธนาคารแห่งที่ 4 ที่ล่มสลายลงของโลก โดยนอกเหนือจากทั้ง 3 ธนาคารดังกล่าวในสหรัฐอเมริกา ยังมีธนาคารเครดิต สวิส เอจี ซึ่งเป็นธนาคารระดับสากล และมีขนาดใหญ่ลำดับที่ 45 ของโลกต้องปิดกิจการในเดือนเมษายนผ่านมา

ในช่วงเช้าวันนี้ 1 พฤษภาคม 2023 กระทรวงการคลัง สหรัฐอเมริกา ธนาคารสหรัฐอเมริกา หรือ FED สถาบันประกันเงินฝากแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ FDIC ร่วมกันเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2023 เวลา 21.30 น. ตามเวลานิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หรือตรงกับเวลา 8.30 น. เวลาไทย มีธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกา 3 แห่งที่เสนอประมูลซื้อกิจการธนาคารเฟิร์สท รีพลับลิก แบงก์ หรือ FRB ได้แก่ พีเอ็นซี ไฟแนนเชียล เซอร์วิส กรุ๊ป ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค และ ซิติเซ่นส์ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป อินคอร์ปอเรชั่น

หน่วยงานทั้ง 3 แห่งของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา จะสรุปผลการเปิดประมูลซื้อกิจการธนาคารเฟิร์สท รีพลับลิก แบงก์ หรือ FRB ภายในเวลาเที่ยงคืน หรือเร็วกว่านั้นของคืนวันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน ซึ่งจะตรงกับเวลาเที่ยงตรงของวันนี้ 1 พฤษภาคม ตามเวลาไทย

หากผลการประมูลซื้อกิจการดังกล่าวไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของทางการสหรัฐอเมริกา หน่วยงานทั้ง 3 แห่ง จะเข้าควบคุมกิจการของธนาคารเฟิร์สท รีพลับลิก แบงก์ หรือ FRB ซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับที่ 13 ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะกลายเป็นธนาคารแห่งที่ 3 ในสหรัฐอเมริกาที่เกิดวิกฤตการบริหารจัดการธุรกิจธนาคาร หลังจากเมื่อเดือนมีนาคมผ่านมา ธนาคารซิลลิคอน วัลเล่ย์ แบงก์ หรือเอสวีบี และธนาคารซิกเนเจอร์ แบงก์ หรือเอสบี ถูกทางการสหรัฐอเมริกาเข้าควบคุมกิจการเบ็ดเสร็จ

ในไตรมาสที่ 1 ผ่านไป ธนาคารเฟิร์สท รีพลับลิก แบงก์ หรือ FRB เกิดปัญหาการสูญเสียความน่าเชื่อถือของลูกค้าที่ฝากเงินในธนาคารดังกล่าว ส่งผลให้มีการแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร FRB รวมกันเป็นจำนวนมากถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3.5 ล้านล้านบาท ปัญหาดังกล่าวเป็นลูกโซ่ลุกลามมาจากวิกฤต 2 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารเอสวีบี และธนาคารเอสบี ถูกควบคุมกิจการเบ็ดเสร็จเมื่อเดือนผ่านไป

การช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์อื่นๆในสหรัฐอเมริการวมกัน 11 แห่ง ที่มีกับธนาคาร FRB ด้วยการเติมเงินฝากรวมกันถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.05 ล้านล้านบาทให้กับธนาคาร FRB นั้น ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

ทั้งนี้ ธนาคาร FRB ก่อตั้งขึ้นในปี 1985 หรือเมื่อ 38 ปีผ่านมา ต่อมาในปี 2007 ถูกซื้อควบรวมกิจการกับธนาคารเมอร์ริล ลินช์ มูลค่าธนาคาร FRB ตกต่ำอย่างมากเมื่อวันศุกร์ผ่านมา หลังจากราคาหุ้นของธนาคารดังกล่าวดำดิ่งมากถึง 50% ส่งผลให้มูลค่าธนาคาร FRB เหลือเพียง 557 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 19,495 ล้านบาท จากที่เคยมีมูลค่ามากถึง 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.4 ล้านล้านบาทเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021