ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกดำดิ่งต่ำสุดใน 3 เดือนหลุด 100 ดอลล์

290
0
Share:

ตลาดซื้อขายสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า รายงานว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ตรงกับเวลาในนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา พบว่า ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ 95.84 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล -8.25 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ -7.9% ทำสถิติราคาปิดต่ำสุดในรอบ 3 เดือน รวม 2 วันทำการติดกันทำให้ราคาน้ำมันดิบร่วงลง -8.95 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 มีราคาพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 130.50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทำสถิติราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ที่สูงสุดนับตั้งแต่กันยายน 2008 หรือในรอบ 13 ปี 5 เดือน

ด้านราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ ปิดที่ 99.49 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล -7.61 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ -7.1% ทำสถิติราคาปิดต่ำสุดในรอบ 3 เดือนหรือนับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายนเป็นต้นมา ก่อนหน้านี้ ราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ มีราคาสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2008 หรือในรอบ 13 ปี 7 เดือน โดยเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2565 มีขึ้นมาสูงสุดระหว่างวันที่ระดับ 139.13 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกทั้ง 2 แห่งดำดิ่งอย่างหนักถึง -27% และ -29% ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบจากราคาสถิติสูงสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลเข้าสู่ภาวะตลาดหมี หรือ Bear Market สมบูรณ์แบบ

ก่อนหน้านี้ ราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ซึ่งถูกเทขายอย่างหนักมากถึง -10.73 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลนั้น ทำสถิติส่วนต่างราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำมากที่สุดอันดับ 3 นับตั้งแต่ราคาน้ำมันดิบดังกล่าวเริ่มทำการซื้อขายครั้งแรกเมื่อปี 1988 หรือในรอบ 34 ปี ส่วนต่างราคาน้ำมันดิบที่ทำสถิติดำดิ่งมากที่สุดในรอบ 1 วัน คือ -16.84 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม

สาเหตุนักลงทุนกลับมากังวลกับมาตรการล็อกดาวน์ และจำกัดการใช้ชีวิตของจีนแผ่นดินใหญ่ครั้งใหม่ เมื่อพบการระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายมณฑลและเมืองสำคัญที่คาดว่ากระทบประชาชนถึง 30 ล้านคน ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบจะลดลง นอกจากนี้ ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเทียบกับ 6 สกุลสำคัญ พุ่งทะยานแตะ 108.56 ทำสถิติแข็งค่าในรอบใกล้ 20 ปีอย่างต่อเนื่อง หรือตั้งแต่ตุลาคม 2002 ความกังวลกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และกลุ่มโอเปกเปิดเผยรายงานความต้องการใช้น้ำมันดิบทั่วโลกในปี 2566 พบว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่วันละ 2.7 ล้านบาร์เรล เมื่อเปรียบเทียบกับในปีนี้

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำมันดิบตึงตัวในตลาดโลกยังคงมีต่อเนื่อง สาเหตุจากปัจจัยศาลในรัสเซียมีคำตัดสินให้ แคสเปียน ไพป์ไลน์ คอมซอร์เตียม หรือ CPC ระงับการปฏิบัติการส่งออกน้ำมันดิบใน 30 วันจากนี้ไป ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบราว 1% ของตลาดโลกหดหายไปจากตลาด นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาอาจประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมกับอิหร่าน