ศึกษาทางด่วนใต้ดินเส้นแรกของไทยแก้รถติด

1351
0
Share:

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับตัวแทนจากกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยว ประเทศญี่ปุ่น หรือ MLIT ว่า ทาง MLIT ได้มานำเสนอผลการศึกษาโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดจากถนน นราธิวาส-สำโรง เพื่อแก้ไขปัญหารถติดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยในเดือนมี.ค.นี้ ญี่ปุ่นจะส่งรายงานผลการศึกษาขั้นสุดท้ายซึ่งจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบการก่อสร้างและงบประมาณมาให้ไทยพิจารณา ซึ่งหากทำได้ก็ถือว่ามีประโยชน์มาก เนื่องจากจะมีบางส่วนที่เชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครด้วย
.
จึงได้สั่งการให้ดูมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบด้านการจราจรระหว่างการก่อสร้างด้วย รวมทั้งให้ สนข.ไปพิจารณาให้รอบคอบว่าการก่อสร้างอุโมงค์ดังกล่าวจะไม่ไปคาบเกี่ยวกับโครงการของเอกชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีพิพาทระหว่างกัน
.
โดยอุโมงค์ทางลอดจะมีระยะทางรวม 8.7 กิโลเมตร เริ่มจากถนนนราธิวาส ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา โดยลอดใต้ต.บางกระเจ้าไปสิ้นสุดที่ศูนย์แสดงสินค้าไบเทคบางนา เบื้องต้นญี่ปุ่นเสนอมา 2 รูปแบบคือ ทางอุโมงค์ใต้ดินที่มีทางด่วน 2 ชั้น และอุโมงค์ใต้ดินที่มีทางด่วน 1 ชั้น ซึ่งต้องรอดูผลการศึกษาขั้นสุดท้ายเสียก่อน
.
ด้านนายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรหรือ สนข. กล่าวว่า สำหรับอุโมงค์ทางลอดดังกล่าวนั้นจะเป็นลักษณะของทางด่วนใต้ดินเส้นทางแรกของไทย จะเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนผู้ใช้ทางที่ต้องการหลีกเลี่ยงปัญหารถติดในกรุงเทพฯ ซึ่งจะต้องมีการจัดเก็บค่าผ่านทาง คาดว่า กระทรวงคมนาคม จะนำเสนอโครงการดังกล่าวให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก หรือ คจร. พิจารณาอนุมัติได้ในช่วงกลางเดือนมี.ค.นี้ เบื้องต้นมีแนวโน้มอาจจะให้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการ
.
เพราะเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูงมากเอกชนอาจจะไม่สนใจลงทุน รวมทั้งยังมีเส้นทางที่เชื่อมต่อกับทางด่วน ของ กทพ. ด้วย ส่วนรูปแบบของทางด่วนมีแนวโน้มจะใช้รูปแบบทางด่วนชั้นเดียวแบบ 4 เลน ไปกลับฝั่งละ 2 เลน เนื่องจากมีวงเงินลงทุนที่น้อยกว่าทางด่วน 2 ชั้นที่จะใช้เงินลงทุนมากกว่า
.
อย่างไรก็ตาม หากมีการก่อสร้างอุโมงค์ทางด่วนใต้ดินเส้นนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรหนาแน่น บริเวณสาทร สีลม บางรัก พระราม 4 ได้มาก เป็นต้น เพราะสามารถระบายรถจากกทม. ออกไปยังสมุทรปราการได้เร็ว และยังสามารถเชื่อมต่อการเดินทางไปยังทางด่วนบางนานได้อีกด้วย
.
ทั้งนี้มีรายงานว่า สนข.อยู่ระหว่างการประเมินงบประมาณ ซึ่งจากสำรวจงานก่อสร้างถนนใต้ดินพบว่ามีต้นทุนก่อสร้างสูง เฉลี่ยระหว่าง ก.ม. ละ 2,000-10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับราคาที่ดินของแต่ละพื้นที่ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2-3 ปี