สนทช.พบสาเหตุน้ำท่วมอุบลฯ

1029
0
Share:

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช.เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ได้หารือสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้เกิดอุทกภัยบริเวณกว้างใน จ.อุบลราชธานี พบว่าเกิดจากพื้นที่ลุ่มน้ำหรือแก้มลิงธรรมชาติตื้นเขิน การสร้างพนังคันกั้นน้ำ บุกรุกทางน้ำ และสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งเป็นอุปสรรคการไหลของน้ำ ประกอบกับอิทธิพลของพายุคาจิกิส่งผลให้มีฝนตกหนักบริเวณ จ.ยโสธร และจ.อุบลราชธานี ทำให้ปริมาณน้ำในลำเซบก และลำโดมใหญ่ที่ไหลลงแม่น้ำมูลมีปริมาณเพิ่มขึ้น รวมถึงด้านท้าย อ.เมือง ปริมาณน้ำเพิ่มสูงรวดเร็วเฉลี่ยวันละ 75 เซนติเมตร ภายใน 2 วันน้ำถึงตลิ่ง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสถิติข้อมูลเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การคาดการณ์จึงเป็นไปยากขึ้น
.
อย่างไรก็ตามระดับน้ำมีทิศทางที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลทำให้ระดับน้ำที่สถานี M.7 อ.วารินชำราบ จะใช้เวลาประมาณ 11 – 18 วัน ระดับน้ำจะลดลงใกล้เคียงหรือเทียบเท่าระดับตลิ่ง ซึ่งหมายความว่าสถานการณ์ผลกระทบน้ำท่วมในพื้นที่ อ.วารินชำราบ และอ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ส่วนใหญ่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็วๆนี้
.
ส่วนแผนการบริหารจัดการน้ำ และการเร่งระบายน้ำ ขณะนี้แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ 1. ระยะเร่งด่วน โดยการควบคุมปริมาณการไหลของน้ำโดยใช้เขื่อนในลำน้ำชี และมูล เพื่อหน่วงน้ำ ชะลอน้ำ และลดการระบายน้ำ จากอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ ทั้งในลุ่มน้ำชีและมูล เพื่อลดปริมาณน้ำหลาก
.
2. ระยะสั้นจะจัดหาแก้มลิง และทุ่งรับน้ำหลากบริเวณสองฝั่งลำน้ำชี และลำน้ำยัง ในลักษณะรูปแบบ “บางระกำโมเดล”
.
3. ระยะกลาง โครงการขุดลอกคลองเชื่อมต่อแนว ตะวันตก – ตะวันออก เพื่อดึงน้ำออกจากลำน้ำชี – ลำน้ำยัง และโครงการผันน้ำชีลงแก้มลิง เพื่อหน่วงน้ำและลดน้ำหลากบริเวณลุ่มน้ำชี
.
4. ระยะยาว โครงการศึกษาผันน้ำชี ลงแม่น้ำโขง เพื่อศึกษาแนวทางเลือกผันน้ำเลี่ยง อ.เมืองอุบลราชธานี เพื่อลดอุทกภัย